ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ประสานเสียงเรียกร้องให้ส่งเสริมการรับรองของ RSPO เพื่อเพิ่มความต้องการผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนของไทยทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เผยไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรรายย่อยอิสระที่ได้รับการรับรองจาก RSPO แกนนำเกษตรกรรายภาคใต้ ยอมรับว่าจะทำให้ราคาผลปาล์มฯสดได้ราคาเพิ่มโดยอัตโนมัติ กก.ละ 30 สตางค์ ขณะที่องค์การเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยปาล์มน้ำมันยั่งยืนเตรียมงานสัมมนาใหญ่ ประจำปีของ RSPO (RT 2024) ในเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้
วันที่ 25 ตุลาคม 2567 องค์การเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยปาล์มน้ำมันยั่งยืน (RSPO) จัดงานมีเดีย บรีฟ เพื่อให้ข้อมูลกับสื่อและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเชิงลึกเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนของประเทศไทย ด้วยการจัดแถลงข่าว “ภูมิทัศน์ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทย ในปี 2567 และยุทธศาสตร์การเร่งเสริมโอกาสของปาล์มน้ำมันไทยในตลาดโลก” โดยมีตัวแทนจากเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทย (TASPO) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนศรีเจริญ
ทั้งนี้เนืองจากว่า การผลิตน้ำมันปาล์มยั่งยืนของประเทศไทยมีการเติบโตอย่างโดดเด่นจาก 348,027 ตันในปี 2562 เป็น 1,112,048 ตันในปี 2567 คิดเป็นกว่าร้อยละ 200 โดยศูนย์กลางการขยายตัวอยู่ในจังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช และพังงา พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่ได้รับการรับรองว่ายั่งยืน (CSPO) ของประเทศไทยครอบคลุมถึง 57,336 เฮกตาร์ หรือ 358,350 ไร่ ซึ่งเป็นผลจากการให้ความสำคัญของการส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืนในประเทศ
ไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่ตั้งกลุ่มเกษตรกรรายย่อยะที่ได้รับการรับรองจาก RSPO
นายอัสนี มาลัมพุช ประธานเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทย (TASPO) และประธานสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีการส่งออกน้ำมันปาล์มส่วนเกินในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่เป็นน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่ไม่มีมูลค่าเพิ่ม จึงจำเป็นต้องทำให้น้ำมันปาล์มที่ผลิตในประเทศไทยดึงดูดตลาดและมีคุณภาพสูง ด้วยการผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน มีคาร์บอนต่ำ และเป็นการค้าที่เป็นธรรม ที่เกษตรกรต้องได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรม และไม่ให้บริษัทเอกชนครอบครองผลประโยชน์ทั้งหมด
นายอัสนี กล่าวอีกว่า การสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยเป็นสิ่งสำคัญ เกษตรกรรายย่อยเป็นกระดูกสันหลังของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของประเทศไทย โดยคิดเป็นประมาณ 85% ของการผลิต เกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยถูกกำหนดให้เป็นเกษตรกรที่มีที่ดินน้อยกว่า 50 เฮกตาร์ (312.5 ไร่) และ ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรรายย่อยอิสระที่ได้รับการรับรองจาก RSPO สี่กลุ่มในปี 2555
การรับรอง RSPO ช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงทรัพยากร
ด้านนางสาวรัฎดา ลาภหนุน ผู้จัดการด้านเทคนิคของ RSPO กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่า เกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศไทยเป็นรายย่อยมีพื้นที่ปลูก 4-5 ไร่เท่านั้นและยังขาดทรัพยากรในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 3 – 3.2 ตันต่อไร่ถือว่าต่ำ และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและความรู้ ทำให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรองด้านราคาค่อนข้างน้อยและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ดังนั้นทาง RSPO จึงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการรับรองให้กับเกษตรกรรายย่อยของไทย ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยและภาคเอกชนในการผลักดันความต้องการผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มคุณภาพสูงและยั่งยืน แต่กระนั้นถ้าดูตัวเลข ณ ตุลาคม 2567 การเป็นสมาชิกของ RSPO ในประเทศไทยประกอบด้วย 91 กลุ่มของเกษตรกรทั้งรายใหญ่และรายย่อย โดยมีกลุ่มเกษตรกรรายย่อยอิสระที่ได้รับการรับรองจาก RSPO 34 กลุ่ม ซึ่งครอบคลุมเกษตรกรกว่า 9,062 ราย โดยพื้นที่ที่ได้รับการรับรองรวมกว่า 283,818.69 ไร่ แต่ถือว่ายังน้อยหากดูพื้นที่ปลูกปาล์มในประเทศไทยที่ให้ผลผลิตแล้วกว่า 6 ล้านไร่
“การรับรอง RSPO ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงทรัพยากร โอกาสทางการตลาดและราคาพิเศษสำหรับทะลายปาล์มสด (FFB) ซึ่งช่วยเพิ่มผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจให้กับพวกเขา กลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับการรับรองสามารถได้รับผลกำไรประจำปีสูงถึง 10.416 ล้านบาท แต่การที่เกษตรกรจะได้การรับรอง RSPO มีค่าใช่จ่ายค่อนข้างสูงพอสมควรสำหรับเกษตรกรรายย่อย จึงขอแนะนำให้เกษตรกรร่วมกลุ่มกัน ” นางสาวรัฎดา กล่าว
ชาวสวนปาล์มฯมีรายได้เพิ่มจริง กก.ละ 30 สตางค์
สอดคล้องกับการให้ข้อมูลของ นายเชาวลิต วุฒิพงศ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนศรีเจริญ จ.กระบี่ ที่ว่า เกษตรกรรายย่อยที่ที่จะรวมกลุ่มเพื่อขอการรับรอง RSPO ต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 20 ไร่ เพราะมีค่าใช้จ่ายพอสมควรอย่างน้อยก็เป็นหมื่นบาท แต่เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรปฏิบัติตามมาตรฐาน RSPO หน่วยงานรัฐบาลและภาคเอกชนจำเป็นต้องเสริมสร้างการสนับสนุนผ่านการให้การศึกษาด้านปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืน การสนับสนุนการก่อตั้งกลุ่ม และการปรับปรุงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
“กลุ่มของผมมีพื้นที่ปลูกว่าราว 1.5 ไร่ พอได้รับการรับรอง RSPO ก็เท่ากับว่า เราผลิตปาล์มน้ำมันเกรดพรีเนี่ยม จะได้รับค่าตอบแทนตอบแทนเพิ่ม กก.ละ 30 สตางค์ ถ้าปัจจุบันราคาปาล์มน้ำมัน กก.ละ 5 บาทเราจะได้เพิ่มเป็น กก.ละ 5.30 บาท ตอนนี้เฉะาะ จ.กระบี่เรามีรายได้จากผลผลิตปาล์มปี 1.7 หมื่นล้านบาท ถ้าบวกกับอีก 30 สตางค์จะเพิ่มอีกกว่า 1,000 บาท ทั้งภาคใต้มีรายจากปาล์มฯปีละ7.5 หมื่นล้านบาท ถ้าได้รับการรับรอง RSPO จะเพิ่มรายได้อีกกว่า 5,000 ล้านบาท เราคิดว่าถ้าได้รับรองแค่ 50 % เท่ากัว่าเกษตรกรชาวสวนปาล์มฯภาคใต้จะมีรายได้กว่า 2,500 ล้านบาท จึงมองว่า การเข้าเป็นสมาชิกเพื่อได้รับการรับการรับรอง RSPO จะเพิ่มรายได้อย่างชัดเจน” นายเชาวลิต กล่าว
ทั้งนี้ที่ผ่านมากองทุนสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย RSPO (RSSF) ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่เกษตรกรรายย่อยน้ำมันปาล์มเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติที่ยั่งยืนตั้งแต่ปี 2557 โดยมีเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยได้รับประโยชน์จำนวน 5,274 ราย โดยได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 12,658,792 บาท
สุราษฎร์ธานี : ต้นแบบระดับประเทศในการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน
ขณะที่ ดร. กาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในนามของเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ ว่า ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งเสริมและรับรองมาตรฐาน RSPO ความมุ่งมั่นของเรายังขยายไปถึงการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางการค้า และช่วยทำให้แน่ใจว่าการปฏิบัติที่ยั่งยืนมีส่วนสนับสนุนให้ภาคเกษตรกรรมของเราเติบโตและเจริญรุ่งเรือง
ในปี 2565 RSPO จังหวัดสุราษฎร์ธานี และภาคีพันธมิตร 6 องค์กรได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อยกระดับพื้นที่สุราษฎร์ธานีให้เป็นเมืองต้นแบบปาล์มน้ำมันยั่งยืนของประเทศไทย และเป็นศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืนที่ได้รับการรับรอง
ตั้งแต่ปี 2565 พื้นที่ปลูกน้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรอง RSPO ในสุราษฎร์ธานีได้เพิ่มขึ้นจาก 82,178.31 ไร่ เป็น 107,789.31 ไร่ เพิ่มขึ้นคิดเป็น 31% การผลิตทะลายปาล์มสดที่ได้รับการรับรองเพิ่มขึ้นจาก 209,858.53 ตันเป็น 283,818.69 ตัน ขณะนี้การรับรอง RSPO ครอบคลุม 12 อำเภอ โดยมีเกษตรกรที่ได้รับการรับรองจาก RSPO จำนวน 3,619 ราย RSPO ตั้งเป้าหมายที่จะขยายการรับรองไปยังพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในทุก 17 อำเภอของสุราษฎร์ธานี
เตรียมจัดสัมมนาใหญ่ “Partners for the Next 20 : Innovating for Impact”
ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะเน้นย้ำความพยายามอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ในงานการสัมมนาประจำปีของ RSPO (RT2024) ภายใต้แนวคิด “Partners for the Next 20 : Innovating for Impact” ซึ่งเป็นเวทีงานประชุมระดับนานาชาติ ที่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันได้เข้ามามีบทบาท ประสานความความร่วมมือ และแบ่งปันวิสัยทัศน์ เพื่อส่งเสริมการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนทั้งระบบ โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 11-13 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมอมารี กรุงเทพมหานคร โดยมีการเตรียมมอบการรับรอง RSPO ให้แก่กลุ่มเกษตรกรรายย่อยอิสระอีก 30 กลุ่มในงาน RT2024
การเติบโตนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการยกระดับมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มและส่งเสริมความยั่งยืนภายในภาคเกษตรกรรมของประเทศโดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำมันปาล์มนั่นเอง
สำหรับ RSPO คือองค์กรเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยน้ำมันปาล์มยั่งยืน (RSPO) เป็นความร่วมมือระดับโลกที่มุ่งทำให้น้ำมันปาล์มมีความยั่งยืน ก่อตั้งขึ้นในปี 2004 RSPO เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย โดยรวมสมาชิกจากห่วงโซ่อุปทานน้ำมันปาล์มทั้งหมด ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน ผู้แปรรูปและผู้ค้า ผู้ผลิตสินค้าบริโภค ผู้ค้าปลีก ธนาคารและนักลงทุน องค์กรพัฒนาเอกชนที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสังคมและการพัฒนา
ในฐานะพันธมิตรเพื่อความก้าวหน้าและผลกระทบในเชิงบวก RSPO ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงระดับโลกเพื่อให้การผลิตและการบริโภคน้ำมันปาล์มมีความยั่งยืน เราสื่อสารถึงประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลง เราส่งเสริมความร่วมมือเพื่อให้เกิดความก้าวหน้า และกำหนดมาตรฐานการรับรองเพื่อความมั่นใจ
RSPO จดทะเบียนเป็นสมาคมนานาชาติในเมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีสำนักงานหลักอยู่ในมาเลเซียและอินโดนีเซีย และมีสำนักงานในจีน โคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา