“ปลัดเกษตรฯ” Kick Off เปิดส่งน้ำเพื่อทำนาปี 2567 พร้อมแนะเกษตรกร ปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                                 ประยูร อินสกุล 

ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่จังหวัดชัยนาท -สุพรรณบุรี Kick Off เปิดส่งน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมการทำนาปี 2567 ประเดิมก่อน 3 แห่ง แนะเกษตรกรปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง พร้อมส่งเสริมปลูกพืชใช้น้ำน้อยหลังนา หวังมรายได้แก่เกษตรกร

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อทำการเปิดการส่งน้ำเพื่อเตรียมความพร้อม การทำนาปี 2567 โดยมีนายปรีชา พันธุ์วา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดี  กรมชลประทาน นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 กรมชลประทาน และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมกิจกรรมและให้การต้อนรับ ณ พื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท และจังหวัดสุพรรณบุรี

สำหรับการเปิดการส่งน้ำเพื่อเตรียมความพร้อม การทำนาปี 2567 ในวันนี้ดำเนินการเปิดประตูระบายน้ำ จำนวน 3 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 ปากคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลเทพ, จุดที่ 2 ประตูระบายน้ำปากคลองส่งน้ำ 1 ซ้าย โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก,   จุดที่ 3 ประตูระบายน้ำปากคลองส่งน้ำ 1 ขวา รวมทั้งพบปะเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน กว่า 200 ราย ที่มารับฟังบรรยายการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และแนวทางการเพาะปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง

วัตถุประสงค์ของกิจกรรมในวันนี้ ถือเป็นการ Kick Off เพื่อเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ ต่อการทำเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่ โดยแนะนำให้เกษตรกรใช้น้ำฝนทำเกษตรเป็นหลัก และใช้น้ำชลประทานสนับสนุน       ซึ่งเป็นการวางแผนการใช้น้ำภาพรวมของประเทศให้เพียงพอตลอดฤดูการเพาะปลูกข้าวนาปี 2567

ขณะเดียวกัน หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องในพื้นที่พร้อมสนับสนุน ส่งเสริมองค์ความรู้แก่เกษตรกรในด้านต่าง ๆ       ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ อาทิ การเพาะปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง การปลูกพืชหลังนา การแจกเมล็ดพันธุ์พืชใช้น้ำน้อยที่มีอายุสั้น เก็บเกี่ยวผลผลิตเร็ว ตลาดมีความต้องการสูงหลายชนิด ได้แก่ ถั่วลิสง ข้าวโพดฝักอ่อน และมันฝรั่ง การสนับสนุนพันธุ์ปลา การส่งเสริมการเลี้ยงโค-กระบือ เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมการใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรมอย่างคุ้มค่า  มีประสิทธิภาพ และรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืนแล้ว ยังเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย