สศท.6 ชี้ชัดเกษตรกรใช้ “นวัตกรรมระบบควบคุมคุณภาพน้ำอัจฉริยะ” เลี้ยงกุ้งขาวฯในภาคตะวันออก กำไรพุ่งกว่า 95%

  •  
  •  
  •  
  •  

สศท.6 เปิดผลการศึกษา การใช้  “นวัตกรรมระบบควบคุมคุณภาพน้ำอัจฉริยะ” ในการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมในภาคตะวันออก สามารถยกระดับการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงเทคนิคและผลิตภาพการได้อย่างดีเยี่ยม  เผยทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง ผลผลิตสูงขึ้น ที่สำคัญทำให้เกษตรกรเพิ่มรายได้เป็นยอดกำไรสุทธิมากกว่าแบบเดิมกว่า 95 % 

นางธีรารัตน์ สมพงษ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ภาคตะวันออกนับเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการผลิตกุ้งขาวแวนนาไม โดยเฉพาะการเลี้ยงแบบเชิงพาณิชย์ ซึ่งจากข้อมูลของ สศก. ปี 2565 ภาคตะวันออก 7 จังหวัด (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ) มีพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม จำนวน 86,505 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 32.04 ของพื้นที่เพาะเลี้ยงทั้งประเทศ ปริมาณผลผลิตรวม 96,060 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,110 กิโลกรัม/ไร่ มีเกษตรกรผู้เลี้ยง 9,053 ราย (กรมประมง, 2565) แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันยังมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทั้งจากธรรมชาติและจากการจัดการของมนุษย์อย่างรวดเร็ว เช่น การเกิดโรคสัตว์น้ำระบาด การเลี้ยงกุ้งขาดหลักวิชาการ การขาดแคลนแรงงานในการเลี้ยงกุ้ง ล้วนส่งผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อการเลี้ยงกุ้งในภาคตะวันออก เกษตรกรจึงนำนวัตกรรม “ระบบควบคุมคุณภาพน้ำอัจฉริยะ” มาบริหารจัดการฟาร์มกุ้ง ส่งผลให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ และผลผลิตมีคุณภาพ

ทั้งนี้ สศท.6 ได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพเชิงเทคนิคและการเปลี่ยนแปลงผลิตภาพการผลิตจากการใช้ระบบควบคุมคุณภาพน้ำอัจฉริยะในการผลิตกุ้งขาวแวนนาไม ภาคตะวันออก โดยรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เกษตรกรกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ในพื้นที่รับผิดชอบ (ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา) จำนวนตัวอย่าง 56 ราย เพื่อเปรียบเทียบต้นทุนและผลตอบแทนของเกษตรกรที่ใช้นวัตกรรมระบบควบคุมคุณภาพน้ำอัจฉริยะในการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม เปรียบเทียบกับเกษตรกรทั่วไปที่ไม่ได้ใช้นวัตกรรมระบบควบคุมคุณภาพน้ำอัจฉริยะ ซึ่งสามารถเพาะเลี้ยงกุ้ง เฉลี่ย 4 เดือน/รอบการผลิต   ส่วนใหญ่เลี้ยงกุ้งพันธุ์ CP และพันธุ์ Syaqua ซึ่งจากผลการศึกษา พบว่า เกษตรกรที่ใช้นวัตกรรมระบบควบคุมคุณภาพน้ำอัจฉริยะ มีต้นทุนการผลิต 214,178 บาท/ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,773 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ย 334,390 บาท/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 120,212 บาท/ไร่/รอบการผลิต

                                                                                   ธีรารัตน์ สมพงษ์

ในขณะที่เกษตรกรทั่วไปที่ไม่ได้ใช้นวัตกรรมระบบควบคุมคุณภาพน้ำอัจฉริยะ มีต้นทุนการผลิต 220,697 บาท/ไร่/รอบการผลิต ได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,577 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ย 282,273 บาท/ไร่/รอบการผลิต  ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 61,575 บาท/ไร่/รอบการผลิต ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบแล้วจะเห็นได้ว่าเกษตรกรที่ใช้นวัตกรรมระบบควบคุมคุณภาพน้ำอัจฉริยะ มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าร้อยละ 2.95 ได้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าร้อยละ 12.45 และมีผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) มากกว่าร้อยละ 95.23  

  สำหรับ “ระบบควบคุมคุณภาพน้ำอัจฉริยะ” คือการบริหารจัดการฟาร์มกุ้งที่เกษตรกรสามารถควบคุมและจัดการฟาร์มผ่านระบบ Application “HydroNeo” ซึ่งระบบนี้ช่วยในการตรวจสอบคุณภาพน้ำแบบเรียลไทม์ และควบคุมระบบเติมอากาศแบบอัตโนมัติ ช่วยให้เกษตรกรสามารถทราบค่าคุณภาพน้ำที่เหมาะสมในการเลี้ยงกุ้ง และสามารถควบคุมการทำงานของเครื่องตีน้ำเพื่อเติมอากาศได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้ช่วยประหยัดเวลา ลดต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและไฟฟ้า ลดความเสี่ยงจากการสูญเสีย และลดแรงงานในการทำงาน สามารถจัดสรรจำนวนคนงานได้อย่างเหมาะสม และจากวิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไปทั่วทุกมุมโลก จึงเป็นจุดเร่งให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงกุ้ง โดยการลงทุนใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อพัฒนาฟาร์มเลี้ยงกุ้งของตนเองให้เป็นสมาร์ทฟาร์ม ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเกษตรมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรมาใช้

ส่วนของแนวทางการพัฒนาศักยภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร แบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ 1) การพัฒนาด้านกระบวนการผลิต ส่งเสริมการนำนวัตกรรมเพื่อการเกษตรและสร้างการรับรู้การประยุกต์ใช้นวัตกรรมระบบควบคุมคุณภาพน้ำอัจฉริยะให้แก่เกษตรกรเลี้ยงกุ้ง 2) การพัฒนาการใช้นวัตกรรม เลือกใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมกับสภาพการผลิตในพื้นที่ให้มีการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสม และ 3) การพัฒนาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อการเกษตร

อย่างไรก็ตาม  ข้อมูลผลการศึกษาของ สศท.6 สามารถนำไปเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุนของผู้เลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม และเพื่อการปรับเปลี่ยนอาชีพ ปรับเปลี่ยนพื้นที่เลี้ยง ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงในพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมเชิงพาณิชย์ อันเป็นการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในการประกอบอาชีพของเกษตรกร และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนสามารถ นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพิจารณาแก้ไขปัญหา และเสนอแนะแนวทางการจัดการในการวางแผนและนโยบายการพัฒนาส่งเสริมการผลิตกุ้งขาว เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของกุ้งไทยในตลาดระดับโลก ต่อไป หากท่านใดสนใจผลการศึกษาเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สศท.6 โทร 0 3835 1261 หรืออีเมล zone6@oae.go.th