สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ชูกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปมะขามบ้านซับชมภู จ.เพชรบูรณ์ ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรท้องถิ่น ด้วยการจำหน่ายผ่านร้านค้าของกลุ่มและร้านค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ผ่าน Facebook Page “มะขามแปรรูป ส่งตรงจากเพชรบูรณ์” สร้างกำไร ปีละ 3.98 ล้านบาท
นายชายศักดิ์ วุฒิศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “มะขามหวาน” นับเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างมูลค่าให้กับจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับการ ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ปี 2548 ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ (ณ 15 มกราคม 2567) คาดการณ์ ปี 2566/67 จังหวัดเพชรบูรณ์ มีเนื้อที่ปลูกมะขามหวาน 90,017 ไร่ ผลผลิตรวม 30,582.72 ตัน เกษตรกรผู้ปลูก 10,041 ราย
ทั้งนี้ จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นแหล่งผลิตมะขามหวานอันดับ 1 ของประเทศ เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกเหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ประกอบกับเกษตรกรมีความชำนาญในการปลูกมายาวนาน จึงทำให้หลายพื้นที่ของจังหวัดเพชรบูรณ์สามารถปลูกมะขามหวานได้ผลผลิตดีและมีคุณภาพสูงกว่าจังหวัดอื่น ซึ่งพบปลูกมากที่สุดในอำเภอหล่มเก่า ชนแดน เมืองเพชรบูรณ์ และหนองไผ่ เกษตรกรนิยมปลูกมะขามหวานพันธุ์สีทองมากที่สุด เนื่องจากมีฝักใหญ่กว่าพันธุ์อื่นในกลุ่มฝักโค้ง (ประมาณ 25 – 30 ฝัก/กิโลกรัม) เนื้อหนา สีทอง
ชายศักดิ์ วุฒิศักดิ์
จากการลงพื้นที่ของ สศท.12 ในอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ พบว่า มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพ ในการผลิตมะขามหวานเพื่อจำหน่ายและแปรรูป คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปมะขามบ้านซับชมภู ตำบลระวิง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่น ระดับจังหวัด ปี 2567 เริ่มดำเนินการโดยจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนในปี 2562 ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกประมาณ 500 ไร่ สมาชิกเกษตรกร 7 ราย มีนายมนตรี สาสุ่ม เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งกลุ่มได้นำระบบการพัฒนาฟาร์มให้ได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) มาผลักดันจนปัจจุบันมีสมาชิกและเกษตรกรที่ส่งผลผลิตให้กับกลุ่มที่ได้การรับรองมาตรฐาน GAP จำนวนทั้งสิ้น 35 ราย โดยมะขามหวานที่ได้รับมาตรฐาน GAP จะเป็นที่ต้องการของตลาดส่งออกและจำหน่ายได้ในราคาค่อนข้างสูง
สำหรับการดำเนินงานในปี 2566 เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนธันวาคม 2566 – เมษายน 2567 ซึ่งกลุ่มสามารถผลิตมะขามหวานฝักสดได้ประมาณ 232 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 464 กิโลกรัม/ไร่/ปี อย่างไรก็ตาม กลุ่มมีการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรนอกกลุ่มและพ่อค้าในพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อนำไปส่งจำหน่ายและแปรรูป ส่งผลให้กลุ่มมีปริมาณการขายมะขามหวานฝักสดเฉลี่ยอยู่ที่ 150 ตัน/เดือน หรือ 600 ตัน/ปี และมะขามหวานแปรรูปเฉลี่ยอยู่ที่ 18 ตัน/เดือน
การจำหน่ายผลผลิต แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ มะขามหวานฝักสด กลุ่มจะรับซื้อผลผลิตจากของสมาชิกกลุ่มและพ่อค้ารวบรวมทั่วไป ในราคาเฉลี่ย 50 บาท/กิโลกรัม ซึ่งสมาชิกกลุ่มจะจำหน่ายได้ราคาสูงกว่าราคาทั่วไปกิโลกรัมละ 2 บาท หลังจากนั้นกลุ่มจะนำผลผลิตคัดเกรดเป็น 3 เกรด เพื่อจำหน่าย ได้แก่ มะขามฝัก เกรด A ราคา 80 บาท/กิโลกรัม มะขามข้อ เกรด B ราคา 50 บาท/กิโลกรัม และมะขามข้อ เกรด C ราคา 40 บาท/กิโลกรัม และมะขามหวานแปรรูป ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าและคัดกรองคุณภาพมะขามก่อนถึงมือผู้บริโภค และเป็นการตัดปัญหาเรื่องเชื้อราจากการบริโภคมะขามแบบฝัก โดยจำแนกเป็นผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ มะขามหวานไร้เมล็ด ราคาขายส่งเฉลี่ยกิโลกรัมละ 300 บาท มะขามคลุกน้ำตาล ราคาขายส่งเฉลี่ยกิโลกรัมละ 125 บาท และมะขามกวน ราคาขายส่งเฉลี่ยกิโลกรัมละ 150 บาท
ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ขายส่งพ่อค้าในพื้นที่และจังหวัดอื่น ๆ และผลผลิตอีกร้อยละ 30 ขายปลีกผ่านร้านค้าของกลุ่มและร้านค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ผ่าน Facebook Page ทีมีชื่อว่า “มะขามแปรรูป ส่งตรงจากเพชรบูรณ์” เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าโดยตรง โดยไม่ต้องเสียค่าเดินทางมาซื้อเอง และกลุ่มยังเข้าถึงผู้บริโภคใหม่ๆ ได้มากขึ้นอีกด้วย ส่งผลให้กลุ่มมีกำไรจากการขายมะขามหวานฝักสดและแปรรูปกว่า 3.98 ล้านบาท
นายชายศักดิ์ กล่าวอีกว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปมะขามบ้านซับชมภู แม้จะเริ่มก่อตั้งมาเพียงไม่กี่ปี แต่การรวมกลุ่มกันของสมาชิก เพื่อรวบรวมผลิตมะขามหวานในพื้นที่เพื่อจำหน่ายและแปรรูป ได้แก้ไขปัญหาการถูกกดราคาจากพ่อค้าต่างถิ่น รวมถึงยังเป็นการสร้างโอกาส การจ้างงาน และรายได้ให้แก่สมาชิก เกษตรกรชาวสวนมะขาม และชุมชน โดยในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด แรงงานจ้างเก็บมะขามบางรายมีรายได้สูงถึงวันละ 1,000 บาท ส่วนสมาชิกที่มาร่วมทำงานโดยการเหมาแกะเปลือกมะขามจะได้รับค่าจ้างกิโลกรัมละ 10 บาท สร้างรายได้เฉลี่ยวันละ 500 – 1,000 บาท/ราย และยังมีสมาชิกที่มาช่วยงานในการขนย้ายมะขามขึ้นลงรถ
“ที่กลุ่มฯ มีการจ้างงานวันละ 370 – 400 บาท ทำให้สมาชิกในชุมชนไม่ต้องเดินทางไปหางานจากที่อื่น สำหรับเป้าหมายในอนาคต กลุ่มต้องการให้วิสาหกิจชุมชนแปรรูปมะขามบ้านซับชมภูเป็นตลาดกลางมะขามหวานของจังหวัดเนื่องจากกลุ่มมีสถานที่ตั้งที่สะดวกต่อการเดินทางและขนส่งสินค้าไปยังกรุงเทพฯ รวมถึงยังมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์มะขามแปรรูปให้มีความหลากหลาย โดยกลุ่มได้มีแผนขอรับสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างห้องเย็นจากจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อใช้เก็บผลผลิตมะขามหวานไว้จำหน่ายและแปรรูปตลอดทั้งปี หากท่านใดสนใจข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดมะขามหวาน รวมถึงสินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปมะขามบ้านซับชมภู ตำบลระวิง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ สามารถติดต่อได้ที่ นายมนตรี สาสุ่ม (กำนันต้น) ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ โทร. 09 4987 9253” ผู้อำนวยการ สศท.12 กล่าว