วว.-มอ.เดินหน้าโมเดลแก้จนพื้นที่ จ.ปัตตานี นำร่องเลี้ยงแพะ-ท่องเที่ยวใหม่ที่ยะหริ่ง ชูเครื่องแกงสมุนไพร “กูตุ๊” 

  •  
  •  
  •  
  •  

วว.จับมือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เดินหน้าขับเคลื่อนโมเดลแก้จนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี นำร่องพัฒนาอาชีพเลี้ยงแพะแบบครบวงจรที่บ้านปิยา ตำบลปิยามุมัง และในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวใหม่  ตำบลแหลมโพธิ์  อำเภอยะหริ่ง ชูการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องแกงสมุนไพรแกงกูตุ๊ 

ตามที่ นางสาวศุภมาส   อิศรภักดี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบนโยบายขับเคลื่อนเชิงพื้นที่สนับสนุนให้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  พัฒนาและออกแบบโมเดลกระบวนการแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดปัตตานี  ใน 2 พื้นที่ คือ ฟาร์มตัวอย่าง ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านปิยา ตำบลปิยามุมัง และในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวใหม่  ตำบลแหลมโพธิ์  อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี  โดยการสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) พร้อมนำร่องการพัฒนาอาชีพเลี้ยงแพะแบบครบวงจร ตามมาตรฐานสากล  ตอบโจทย์ผู้บริโภค/ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตครัวเรือนอย่างยั่งยืน ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

                                 ศุภมาส   อิศรภักดี                                                                    ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต

การพัฒนาและออกแบบโมเดลดังกล่าว จะแก้ปัญหาการเลี้ยงแพะของครัวเรือนยากจนในพื้นที่เป้าหมาย  (กว่า 30 ครัวเรือน)  ซึ่งมีระบบการเลี้ยงที่ปล่อยให้แพะหากินเองตามธรรมชาติเป็นหลัก เนื่องจากครัวเรือนยากจนยังไม่มีศักยภาพในการสร้างที่เลี้ยงแพะ  รวมทั้งผลิตอาหารเลี้ยงแพะที่มีคุณภาพ ทำให้ส่งผลเสียต่อปริมาณและคุณภาพหรือน้ำหนักตัวของแพะ  รวมถึงเกิดปัญหาแก่ชุมชนหรือพื้นที่สาธารณะ   เช่น  แพะขับถ่ายมูลตามพื้นที่ อีกทั้งยังก่อให้เกิดอุบัติเหตุตามท้องถนนเป็นอันตรายทั้งกับประชาชนและแพะ  มีผลต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชน  รวมทั้งลดการขัดแย้งในการที่แพะเข้าไปในพื้นที่ส่วนบุคคล  เป็นต้น  ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่สำคัญในการพัฒนาโมเดลฯ เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน

ล่าสุด ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการ วว.  กล่าวถึงการดำเนินงานตามโมเดลฯ ว่า ประกอบด้วย กิจกรรมที่ 1)  การเลี้ยงแพะแบบครบวงจร  โดย วว. พัฒนา “ระบบหนุนเสริมงาน” เพื่อให้ครัวเรือนมีพื้นที่เลี้ยงแพะและมีอาหารเลี้ยงแพะที่มีคุณภาพ ด้วยการจัดหาพ่อพันธุ์แพะเนื้อสายพันธุ์แองโกลนูเบียนและสายพันธุ์บอร์ รวมจำนวน  6  ตัว เพื่อเป็นพ่อพันธุ์แพะสายเลือดดีประจำพื้นที่  และพัฒนาแปลงปลูกพืชอาหารสัตว์ ณ ฟาร์มตัวอย่างบ้านปิยามุมัง ขนาด พื้นที่  4  ไร่  และในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวใหม่  ตำบลแหลมโพธิ์ จำนวน 20 ไร่ ในการปลูกหญ้ากินรี  ปลูกมันสำปะหลัง

แหลมโพธิ์

สำหรับเป็นอาหารสัตว์และสามารถปลูกได้ผลผลิตดีในสภาพดินทรายจัดที่มีความเค็มสูง พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและใช้อาหารหมักคุณภาพสูงสำหรับแพะเนื้อ ที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์ ได้แก่  เชื้อราสายพันธุ์ Rhizopus  เชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์  Lactobacillus และเชื้อยีสต์สายพันธุ์  Saccharomyces  จากแหล่งผลิตภัณฑ์อาหารในพื้นที่  รวมทั้งพัฒนาการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบเม็ดจากมูลแพะเคลือบด้วยจุลินทรีย์ประจำถิ่นจากแหล่งดินสมบูรณ์ พัฒนาคอกเลี้ยงแพะแก้ปัญหาแพะออกไปหากินหรือเดินไปตามพื้นที่สาธารณะและช่วยให้แพะมีการเลี้ยงที่ถูกสุขลักษณะ

“การดำเนินงานดังกล่าวทำให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ มีทักษะในกระบวนการผลิต มีสถานที่เหมาะสมสำหรับการผลิต ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยง  ยกระดับทั้งปริมาณและคุณภาพของผลผลิตแพะเนื้อด้วย วทน. ตอบโจทย์การสร้างอาชีพการเลี้ยงแพะแบบครบวงจรในพื้นที่ แก้ไขปัญหาความยากจน โดยมีเครือข่ายร่วมในพื้นที่บูรณาการดำเนินงาน ได้แก่ ฟาร์มตัวอย่างบ้านปิยามุมัง  ฟาร์มตัวอย่างบ้านสีปาย  สำนักงานปศุสัตว์อำเภอยะหริ่ง สำนักงานเกษตรอำเภอยะหริ่ง สถานีพัฒนาที่ดินปัตตานี องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมโพธิ์ วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิค และวิทยาลัยการอาชีพจังหวัดปัตตานี สหกรณ์การเกษตรปิยาราตา นทพ. จำกัด สหกรณ์แพะและแกะ จำกัด เพื่อให้งานของพื้นที่เป็นความร่วมมือที่เกิดจากศักยภาพของพื้นที่ (Collaborative governance)  ตามองค์ประกอบและภาพของการทำงานเชิงพื้นที่ของจังหวัดปัตตานี ที่ทาง บพท. ได้กำหนดไว้…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

 กิจกรรมที่ 2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องแกงสมุนไพรแกงกูตุ๊   เป็นการเพิ่มมูลค่าพัฒนาอาหารทางวัฒนธรรมท้องถิ่น โดย วว. ดำเนินการที่ปรึกษาในการพัฒนากระบวนการผลิตเครื่องแกงกูตุ๊  ซึ่ง “แกงกูตุ๊” เป็นอาหารหลักของพื้นที่และชาวมุสลิม  โดยเน้นการใช้ภูมิปัญญาสมุนไพรและเครื่องเทศของพื้นที่ เป็นจุดเริ่มต้นในการหากระบวนการสร้างรายได้ ประกอบด้วย การศึกษาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิต  การวิเคราะห์ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ  การออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์  และมาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหาร  โดยการใช้เทคโนโลยีปลอดเชื้อแบบสเตอร์ริไรซ์  และผลิตที่โรงงานแปรรูปอาหาร ณ  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ได้มาตรฐาน GMP และฮาลาล  รวมทั้งวิเคราะห์สารสำคัญในผลิตภัณฑ์เครื่องแกงกูตุ๊ ซึ่งมีปริมาณสารฟีนอลิคและฟลาโวนอยด์สูง

มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูอิสระด้วยการยับยั้งอนุมูลอิสระของกลไก Oxygen  radical  absorbance  capacity สูงที่สุด และไม่มีสารก่อให้เกิดโรคในทางเดินอาหาร โดยผลิตภัณฑ์เครื่องแกงที่พัฒนาสำเร็จ  สามารถพกพาสะดวก เหมาะกับการเดินทางไกล  เช่น  เดินทางไปประกอบพิธีทางศาสนา   พิธีฮัจญ์ เป็นต้น  สามารถนำไปปรุงผสมกับเนื้อสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะเนื้อวัวหรือเนื้อแพะ จะทำให้อาหารไม่มีกลิ่นสาบ  มีรสชาติเผ็ดร้อน และถูกต้องตามหลักศาสนา โดยทางมหาวิยาลัยในพื้นที่มีความสามารถเชื่อมโยงการจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาอาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมายครัวเรือนยากจนในพื้นที่ เพื่อให้เป็นรูปแบบของธุรกิจชุมชนในอนาคตต่อไป