ส่องเทรนด์อาหารแห่งอนาคต “ไข่ผำ-จิ้งหรีด”ซุเปอร์ฟู้ดจากธรรมชาติ  ประโยชน์มากกว่าที่คิด

  •  
  •  
  •  
  •  

 

งานสัมมนายิ่งใหญ่แห่งปี “ไข่ผำ-จิ้งหรีด” ตัวแทนพืชและแมลง โปรตีนแห่งอนาคต ซุเปอร์ฟู้ดจากธรรมชาติ แหล่งอาหารชั้นดี สามารถสร้างอาชีพและทำรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงได้อย่างมหาศาล ตอบโจทย์ผู้บริโภคทั่วโลกในยุค New Normal ตัวแทน มกอช.ชี้จิ้งหรีดเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือก ใช้ทรัพยากรน้อย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คาด ปี 2573 จะมีมูลค่าทางตลาดถึง 144,000 ล้านบาท ขณะที่ไข่ผำเพาะเลี้ยงง่าย สร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวระหว่างเปิดเวทีด้วย Special Talk ในหัวข้อ “ซุปเปอร์ฟู้ดจากธรรมชาติ อาหารแห่งอนาคต” ซึ่งจัดโดยกรมประมง และนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุม อาคารหนังสือพิมพ์ข่าวสดท่ามกลางผู้สนใจเข้าร่วมงานอย่างล้นหลามว่า  ประชากรเกือบ 193 ล้านคน ใน 53 ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคง ด้านอาหารอย่างเฉียบพลัน จากภาวะสงคราม สภาวะโลกร้อน (Global Warming ) ทำให้เกิดวิกฤตอาหารโลก ซึ่ง “อาหารแห่งอนาคต” เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างแหล่งอาหารใหม่ที่สามารถเพิ่มผลผลิตได้เร็วกว่า ใช้พื้นที่เพาะเลี้ยงน้อยกว่า เปิดโอกาสแตะเงินล้านด้วยธุรกิจอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ที่ดีต่อใจ – ดีต่อสุขภาพ – ดีต่อโลก อาหารแห่งอนาคต (Future Food Policy) เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้กับประเทศไทย ตลอดห่วงโซ่เกษตรและอาหาร เป็นการตอบโจทย์ผู้บริโภคทั่วโลกในยุค New Normal

                                                                                          เฉลิมชัย สุวรรณรัตน์

ด้าน ดร.สมบัติ สิงห์สี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอุดรธานี (ศพจ.อุดรธานี) กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง กล่าวบนเวทีในหัวข้อ “การเพาะเลี้ยงไข่ผำ สร้างรายได้” ว่า ประเทศไทยมีไข่ผำมากถึง 37 ชนิด ส่วนใหญ่ที่พบ คือ ชนิด W. arrhiza และ W. globosa การสืบพันธุ์ของไข่ผำมี 2 แบบ คือ 1.การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ใช้เวลานานและคุณสมบัติของน้ำมีความเหมาะสม 2.การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ใช้วิธีแตกหน่อให้ต้นใหม่ ส่วนใหญ่นิยมนำไข่ผำมาบริโภค ใช้เป็นอาหารเสริมสัตว์น้ำ ร้อยละ 10 ในอาหารเม็ดสำเร็จรูปเพื่อเลี้ยงปลานิลแดง ส่งผลให้ปลามีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น และเลี้ยงไข่ผำเพื่อบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น

ส่วน ดร.รุจิเรข น้อยเสงี่ยม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวบนเวทีในหัวข้อ “การเข้าใจ เข้าถึง นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food)” ว่า จิ้งหรีด เป็น “แหล่งโปรตีนทางเลือก” ที่ใช้ทรัพยากรน้อย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โปรตีนเฉลี่ยสูงกว่าเนื้อสัตว์ ในปี2565 จิ้งหรีดมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 14,000ล้านบาท อัตราการเติบโตเฉลี่ย ที่ 28.6% คาดว่า ปี 2573 ตลาดจิ้งหรีดจะมีมูลค่า 144,000 ล้านบาท เพราะมีผู้บริโภคในทุกภูมิภาค

.                    ดร.สมบัติ สิงห์สี กรมประมง                                                                 ดร.รุจิเรข น้อยเสงี่ยม มกอช

ขณะที่คุณกมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ เกษตรกรเพาะเลี้ยงไข่ผำ จังหวัดกาญจนบุรี ขึ้นกล่าวบนเวทีในหัวข้อ “ไข่ผำ Super foods ของโลก เพาะเลี้ยงง่าย สร้างเงินแสน”  ว่า ไร่แสงสกุลรุ่ง เลี้ยงไข่ผำระบบปิดในลองซีเมนต์ พร้อมเติมธาตุอาหารด้วยน้ำหมักปลาที่เป็นสารชีวภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์กับไข่ผำ ในระยะเวลา 2 สัปดาห์ เริ่มจากเตรียมลองซีเมนต์ให้พร้อม ใส่น้ำลงไปพร้อมเติมธาตุอาหารและใส่พันธุ์ผำลงไป ครบ 1 สัปดาห์ ปล่อยน้ำพร้อมทำความสะอาดให้เรียบร้อย พร้อมปล่อยผำลงไปใหม่ ครบ 2 สัปดาห์จึงช้อนผำนำมาแปรรูป สร้างเพิ่มมูลค่าในรูปแบบ ข้าวเกรียบผำ ขนมปังกระเทียมไข่ผำ ทองแผ่นผำ ฯลฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทร. 091- 7536491 (แสบ), 084-8948765 (มาดามผำ)

                           บัญชา นามธรรม                                                                          กมลวรรณ รุ่งประเสริฐ

ปิดท้ายเวทีด้วย นายบัญชร นามธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท สามสิบสอง อินโนเวท จำกัด  พูดคุยในหัวข้อ “เลี้ยงจิ้งหรีดอย่างมืออาชีพ 2 ปี คืนทุน 3 ปี ทำกำไร”  กล่าวว่า บริษัทได้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเลี้ยงจิ้งหรีดในแนวตั้ง ด้วยระบบอัตโนมัติ ทำให้ดูแลจัดการง่าย ผลิตจิ้งหรีดได้มากกว่าการเลี้ยงแบบทั่วไป ประมาณ 3 เท่า ในพื้นที่การเลี้ยงที่เท่ากัน    ปัจจุบันทางฟาร์มสามารถผลิตจิ้งหรีด2,000 – 2,500 ก.ก.ต่อเดือน ในพื้นที่ 400ตารางเมตร ผลิตมูลจิ้งหรีด  3,000-4,000 กก.ต่อเดือน ลงทุน อย่างมืออาชีพ 2 ปี คืนทุน 3 ปี ทำกำไร สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 081697-3539 หรือเพจเฟซบุ๊ก : 32 BUG FARM