“เฉลิมชัย” วอนเกษตรกรชาวภูเก็ตให้รักษาอาชีพเกษตรกรรมไว้ แต่เกษตรกรต้องพัฒนาตัวเอง ต้องปรับตัว สู่การทำการเกษตรมูลค่าสูง ทำน้อยแต่ได้มาก สร้างมาตรฐานสินค้าให้มีคุณภาพ รองรับหลังจากการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามา ยืนยันกระทรวงเกษตรฯพร้อมที่จะเข้าไปดูแลพี่น้องเกษตรกรเสมือนเป็นคนในครอบครัวกัน
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เยี่ยมชมการดำเนินงานศูนย์ฝึกอาชีพเพาะเห็ดบ้านป่าครองชีพ (ศพก.เครือข่าย) พร้อมพบปะและรับฟังปัญหาจากประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ ณ หมู่ที่ 9 บ้านป่าครองชีพ ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
สำหรับศูนย์ฝึกอาชีพเพาะเห็ดบ้านป่าครองชีพ เป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตพืชตามหลักการเกษตรที่เหมาะสม (GAP) และเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) การทำการเกษตรแบบผสมผสาน และการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต ปัจจุบันได้ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรจนได้รับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ในพืชผักหลายชนิด และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในการผลิตเห็ดนางฟ้า ซึ่งถือเป็นเห็ดอินทรีย์รายแรกของจังหวัดภูเก็ต และมีการขยายผลไปสู่เกษตรกรทั่วไป ในพื้นที่อำเภอถลางและใกล้เคียง
ดร.เฉลิม ชัย กล่าวว่า ตนในฐานะที่ดูแลพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ การตรวจราชการทุกครั้งจะเจอพี่น้องเกษตรกรทุกภาค ซึ่งจะมีการพูดคุยและรับฟังปัญหาต่าง ๆ โดยการลงพื้นที่ทุกครั้งจะพาผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ มารับฟังปัญหาจากพี่น้องเกษตรกรโดยตรง อะไรที่สามารถแก้ไขได้จะทำทันที อย่างไรก็ตาม ในช่วงโควิด-19 ผ่านมา จะมีผลกระทบต่อในทุกสาขาอาชีพ แต่ถือว่ามีผลกระทบต่อภาคการเกษตรน้อยที่สุด เนื่องจากทุกคนยังต้องบริโภคอาหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงต้องดูแลทั้งในเรื่องของผลผลิตทางการเกษตร การแปรรูป การตลาด และการส่งออก เป็นต้น
“สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการคือการสร้างคุณภาพของสินค้า การสร้างมาตรฐานสินค้าให้มีคุณภาพ ซึ่งหลังจากการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามานั้น ในส่วนของภาคเกษตรจึงยิ่งต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และจะส่งผลต่อราคาสินค้าก็จะได้เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมที่จะเข้าไปดูแลพี่น้องเกษตรกรให้เสมือนเป็นคนในครอบครัว พร้อมจะเป็นพี่เลี้ยงและส่งเสริมองค์ความรู้ทางด้านต่าง ๆ จึงอยากให้พี่เกษตรกรรักษาอาชีพเกษตรกรรมไว้ และให้พัฒนาตัวเอง มีการปรับตัว สู่การทำการเกษตรมูลค่าสูง คือการทำน้อยแต่ได้มากต่อไป” ดร.เฉลิมชัย กล่าว