“มนัญญา” ชื่นชมสมาชิกสหกรณ์การเกษตรปันบุญ ที่สามารถยกระดับมาตรฐานสินค้าจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักอินทรีย์ได้ ชูเป็นต้นแบบในการส่งเสริมพื้นที่ที่มีศักยภาพให้ก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางที่ได้รับมาตรฐานผู้ปลูกผักอินทรีย์ในระดับภูมิภาคต่อไป และพร้อมขับเคลื่อนโครงการแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และติดตามโครงการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด ของสหกรณ์การเกษตรปันบุญ จำกัด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ โดยมี นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายสมบัติ ตงเต๊า รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกร เข้าร่วม
โอกาสนี้ ได้พบปะและรับฟังปัญหาของสมาชิก และร่วมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร (สลัดโรล) ตามโครงการแปรรูปสินค้าเกษตรฯ ตลอดจนร่วมปลูกต้นกล้าฟ้าทะลายโจรในแปลงและกดเปิดระบบน้ำอัจฉริยะผ่านมือถือ หรือ IOT ก่อนเยี่ยมชมแปลงใหญ่ผักของสมาชิกสหกรณ์
นางสาวมนัญญา กล่าวว่า สหกรณ์การเกษตรปันบุญ จำกัด เดิมเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ต่อมาจัดตั้งเป็นสหกรณ์เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดำเนินกิจกรรมปลูกแปลงผักอินทรีย์ แปลงปลูกฟ้าทะลายโจร รวมถึงเทคโนโลยีการปลูกผักในโรงเรือน และระบบสมาร์ทฟาร์ม โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ อาทิ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นเงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์ เพื่อสนับสนุนการสร้างโรงเรือน จำนวน 600,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 บาท/ปี
มนัญญา ไทยเศรษฐ์
กรมวิชาการเกษตร สนับสนุนปัจจัยการผลิตสำหรับพืชอินทรีย์ ตรวจรับรองตามมาตรฐาน GAP พืช และพืชอินทรีย์ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยเป็นงบประมาณโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงการตลาด (สร้างโรงเรือนปลูกผักหลังคาพลาสติกให้กับสมาชิก จำนวน 40 ราย)
“กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพผลผลิตสหกรณ์ โดยได้มอบนโยบายให้ขยายพื้นที่ในการผลิตเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และได้รับรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มาตรฐาน GAP โรงคัดบรรจุที่ผ่านมาตรฐาน GMP และการเพิ่มช่องทางการตลาดเพื่อการจำหน่ายสินค้าของสมาชิกที่มีคุณภาพและได้รับมาตฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตของสมาชิก และขอชื่นชมสมาชิกสหกรณ์การเกษตรปันบุญ จำกัด ที่สามารถยกระดับมาตรฐานสินค้าของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักอินทรีย์ได้ ถือเป็นต้นแบบในการส่งเสริมพื้นที่ที่มีศักยภาพให้ก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางที่ได้รับมาตรฐานผู้ปลูกผักอินทรีย์ในระดับภูมิภาคต่อไป” นางสาวมนัญญา กล่าว
สำหรับโครงการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด งบประมาณทั้งสิ้น 129,000 บาท เป้าหมาย สมาชิกสหกรณ์ในจังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 100 คน 5 สหกรณ์ ได้แก่ 1. สหกรณ์การเกษตรก้าวแสน จำกัด อ.หนองกุงศรี ผลผลิต มะม่วงมหาชนก การแปรรูป เนื้อมะม่วงพาสเจอร์ไรซ์ ไอศครีมมะม่วง 2. สหกรณ์การเกษตรยางตลาด อ.ยางตลาด ผลผลิต มะม่วงน้ำดอกไม้ แปรรูป กัมมี่มะม่วง น้ำมะม่วง มะม่วงทอดกรอบ เนื้อมะม่วงพลาสเจอร์ไรซ์ 3. สหกรณ์การเกษตรบ้านดงกล้วย อ.นามน ผลผลิตมันม่วง แปรรูป ผงมันม่วง มันแครอท มันฉาบ 4. สหกรณ์การเกษตรปันบุญ จำกัด อ.ฆ้องชัย ผลผลิตผักสลัด การแปรรูป สลัดโรล สลัดผัก และ 5. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเขาพระนอน อ.ยางตลาด ผลผลิตข้าว แปรรูป ข้าวแต๋นน้ำแตงโม น้ำพริกปลา