ในที่สุดมตามที่ 3 คณะของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมปั้น นศ.เป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ ได้ค้นพบสุดยอดทีม “Best of Maejo University” ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์จากความถนัดของบริบทแต่ละคณะภายใต้โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นแล้ว เป็นทีมที่ผลิตผลงาน “น้ำพริกนรกปลา” เตรียมส่งไปแข่งขัน Best of the Best กับ 64 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศไทยปลายปีนี้
ดร.วงค์พันธ์ พรหมวงศ์ ผู้ช่วยคณบดีคณะผลิตกรรมการเกษตร ในนาม หัวหน้าโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากความถนัดของบริบทแต่ละคณะ ภายใต้โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นความร่วมมือของ 3 คณะ คือ คณะผลิตกรรมการเกษตร คณะเทคโนโลยีและทรัพยากรทางน้ำ และคณะพัฒนาการท่องเที่ยว ส่งเสริมให้นักศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์จากความถนัดของบริบทแต่ละคณะ
มีเป้าหมายคือการส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มองค์กรชุมชน ประเภทกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ให้สามารถบริหารจัดการกลุ่ม พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าสู่ตลาด ด้วยการบูรณาการภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่นกับองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัย ตลอดจนสร้างประสบการณ์การเรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่มให้กับนักศึกษาสามารถต่อยอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพตนเอง
ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากธนาคารออมสิน และธนาคารออมสิน ภาค 8 และธนาคารออมสินสาขาแม่โจ้ เป็นพี่เลี้ยง ใช้เวลาในการดำเนินงาน 12 เดือน (2563-2564) ส่งเสริมให้นักศึกษาได้สร้าง Brand ผลิตภัณฑ์เด่น 7 ประเภท ซึ่งสนับสนุนให้นักศึกษาได้แสดงศักยภาพด้านการเป็นผู้ประกอบการ ให้มีจิตอาสาช่วยเหลือสังคม เห็นความสำคัญของการช่วยเหลือผู้อื่น เป็นผู้พัฒนาและแก้ไขปัญหา อีกทั้งเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกคิด วางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ความสำเร็จนี้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่บุคคลทั่วไปได้เห็นถึงศักยภาพของนักศึกษารุ่นใหม่
สำหรับ 7 แบรนด์ผลิตภัณฑ์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีดังนี้คือ คณะผลิตกรรมการเกษตร 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่โคมมิ่งมงคล “จากพลังแห่งศรัทธา สู่ภูมิปัญญา หัตถศิลป์อันงดงาม” ซึ่งนักศึกษาคณะผลิตกรรมการเกษตร ร่วมกับชาวบ้าน หมู่ 3 ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ หมู่บ้านต้นกำเนิดโคมล้านนา ปรับรูปแบบโคมล้านนา ให้มีขนาดเล็กลงแต่ยังคงความอ่อนช้อยงดงาม
ต่อยอดเป็นสินค้า premium เสน่ห์อันทรงคุณค่าภูมิปัญญาของชาวเชียงใหม่ สามารถนำไปตั้งโต๊ะบูชาพระพุทธรูป เป็นของที่ระลึก ประดับบ้านและโต๊ะทำงาน สร้างบรรยากาศล้านนาไทย นอกจากที่เคยใช้แขวนตกแต่งสถานที่ช่วงประเพณียี่เป็งเท่านั้น
กล้วยตากบ้านป่าป๋อ “กล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์ บ้านป่าป๋อ หวานมันกำลังดี สีสวย เก็บได้นาน” นักศึกษาแปรรูปผลิตภัณฑ์กล้วยน้ำว้า ผลไม้ท้องถิ่นให้มีรสชาติหวานมันกำลังดี สีสวย เก็บได้นาน ออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ช่องทางการขาย สนับสนุนการพัฒนาให้ได้มาตรฐาน อย. และยังพัฒนาน้ำผึ้งโก๋น สบู่ ยาหม่อง ของดีในชุมชนร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านป่าป๋อ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
จิ้งหรีดออมเงิน “เอาตัวจิ้งหรีดราคาถูก แปรรูปเป็นจิ้งหรีดมีราคา พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ดูมีมูลค่า เปลี่ยนน้ำพริกรสชาติธรรมดาให้มีโปรตีน” นักศึกษาคณะผลิตกรรมการเกษตรร่วมกับมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการสาขาภาคเหนือ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ แปรรูปตัวจิ้งหรีด ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ตราสินค้า ประชาสัมพันธ์ช่องทางการขาย และผลักดันให้จิ้งหรีดได้มาตรฐาน อย. เพื่อช่วยเหลือคนพิการให้มีรายได้เพิ่มจากทรัพยากรที่เลี้ยงได้ง่ายในท้องถิ่น
ส่วนคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ 2 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วยน้ำพริกนรกปลา “กินแล้วเหมือนแหวก ว่ายธารา ในกระทะทองแดง” จากปัญหา ที่ ชุมชนไม่สามารถนำ องค์ความรู้ในเรื่องของการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นที่มีอยู่มาต่อยอดทางอาชีพได้
นักศึกษาคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ ร่วมกับกลุ่มสตรีบ้านโปง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ร่วมกันพัฒนาและคิดค้นสูตรน้ำพริกนรกปลา รสชาติกลมกล่อม กินง่าย ถูกปากคนชอบทานน้ำพริก ทุกเพศทุกวัย ออกแบบฉลาก บรรจุภัณฑ์ให้เก็บรักษาได้นาน
อีกทั้งยังคำนึงถึงความยั่งยืนของชุมชนทางด้านรายได้ จึงเพิ่มช่องทางการตลาด ขายออนไลน์ ตลาดร้านค้าชุมชน และดำเนินการ ขอ อย. เพื่อขยายตลาด และความยั่งยืนทางด้านอาชีพ ส่งเสริมให้เกษตรในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียงได้มีอาชีพโดยการผลิตวัตถุดิบส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำพริกนรกปลา
ปลากดหลวงรมควัน “สัมผัสกลิ่นควันธรรมชาติจากปลาบนยอดดอย” นักศึกษาคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอินทรีย์ทอง คัดสรรปลากดหลวง (Channel Catfish) คุณภาพดี น้ำหนักขนาด 1.5- 2.0 กิโลกรัม จากบ่อเลี้ยงของเกษตร อ.พร้าว แล่เป็นชิ้นสวยงาม แช่น้ำเกลือ รมควัน ด้วยไม้เมเปิ้ล (Maple) กับ ชานอ้อย (Bagasse) ทำให้มีสี และกลิ่นสัมผัสที่แปลก น่ากิน บรรจุซองไนล่อน ซีลสูญญากาศ และเก็บรักษาในตู้แช่แข็ง และสะดวกในการขนส่งระยะไกล เก็บได้ 90 วัน
ขณะที่คณะพัฒนาการท่องเที่ยว 2 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย Application ป๊ะ สะเมิง นักศึกษาคณะพัฒนาการท่องเที่ยว สร้าง Application เพื่อค้นหาที่กิน ที่เที่ยว ที่พัก ของอำเภอสะเมิง โดยสามารถระบุความสนใจของนักท่องเที่ยวตามกลุ่มอายุ และไลฟ์สไตล์ เพื่อเลือกสถานที่ท่องเที่ยวตามความสนใจของผู้ใช้งานได้ถูกกลุ่มเป้าหมาย เป็น App.ที่ใช้งานง่าย ภาพสวย นักท่องเที่ยวสามารถค้นหาได้สะดวก เติมเต็มการพักผ่อน ใน App. ป๊ะสะเมิง
Green Land Sharing ลำพูน “เที่ยว ดื่ม ด่ำ บรรยากาศฟาร์มธรรมชาติ” Sharing farm จ.ลำพูน พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว ปรับปรุงภูมิทัศน์ร่วมกับชาวบ้าน ขยายเครือข่าย home stay และสินค้าเกษตรและภูมิปัญญาท้องถิ่น
ดร.วงค์พันธ์ กล่าวอีกว่า ผลงานของนักศึกษาทั้ง 7 ผลิตภัณฑ์ จะมีคณะกรรมการโดยผู้แทนจากทั้ง 3 คณะ และผู้บริหารจากธนาคารออมสิน ได้มีการตัดสินคัดเลือกทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ Best of Maejo University ได้แก่ ทีมน้ำพริกนรกปลา ผลงานของคณะเทคโนโลยีการประมง และทรัพยากรทางน้ำ
สมาชิกของกลุ่มนี้ประกอบด้วย นายธีรศักดิ์ แก้วยองผาง, นายเขมทัต ชุ่มชื่น, นางสาวสุชารวี ดอกคำแดง, นางสาววันอาสาฬ์ นนกระโทก, นางสาวฐิติยา อานุ, นายธีรทัศน์ ต๊ะวิจิตร, นายธเนศ สอนแก้ว มี อาจารย์กานต์ ทิพยาไกรศรี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และ นางอัจฉรา เสาวฤทธิ์ นักวิชาการศึกษา เป็นผู้ประสานงาน จากนี้ ทีมน้ำพริกนรกปลา จะต้องเตรียมพร้อมเพื่อเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยเข้าแข่งขันชิงรางวัล Best of the Best กับอีก 64 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2564 ต่อไป