ข่าวดี! สสว.- SME D Bank ขยายกลุ่มปล่อยกู้ดอกเบี้ย 1% ให้เอสเอ็มอีท่องเที่ยว 35 จังหวัด เช็คเงื่อนไขได้เลย 

  •  
  •  
  •  
  •  


                                                  นารถนารี รัฐปัตย์

สสว. จับมือ SME D Bank เดืนน้าช่วยเหลือเอสเอ็มอีธุรกิจเกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยว ขยายกลุ่มเป้าหมายมีสิทธิ์ยื่นกู้ “โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย” ดอกเบี้ย 1% ต่อปี ในพื้นที่ 35 จังหวัด พิเศษสุดผ่อนนานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี เผยใช้เกณฑ์พิจารณาจากฐานการเสียภาษี หนุนเข้าถึงแหล่งทุนง่ายและรวดเร็ว แนะรีบแจ้งความประสงค์ภายใน ส.ค.นี้

    นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank    กล่าวว่า จากที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ SME D Bank  ร่วมดำเนินการ “โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย” วงเงิน 1,200 ล้านบาท  เพื่อสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ 1% ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี   

   ทั้งนี้ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มธุรกิจโรงแรม ห้องพัก  เกสต์เฮ้าส์ และธุรกิจสปาที่ตั้งอยู่ในโรงแรม  เกสต์เฮาส์  ใน 10 จังหวัด พื้นที่นำร่องเปิดการท่องเที่ยว และกลุ่มธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ใน 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด  นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง  ลงทุน ขยายกิจกรรม ปรับปรุง ซ่อมแซม  ยกระดับมาตรฐานการให้บริการ    โดยเปิดแจ้งความประสงค์ยื่นกู้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา  ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการแจ้งความประสงค์จำนวนมาก


     อย่างไรก็ตาม จากการหารือกับตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่าง ๆ เช่น สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย  สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว สมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย  และสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เป็นต้น  ทำให้ สสว. และ SME D Bank เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนที่ผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว (supply chain) กำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง  ดังนั้น จึงเปิดกว้างขยายให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยว มีสิทธิ์ยื่นกู้โครงการดังกล่าว ดังนี้

   – ธุรกิจโรงแรม ห้องพัก  เกสต์เฮาต์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว (Supply Chain) ได้แก่ ธุรกิจนำเที่ยว-ทัวร์  ธุรกิจคมนาคมขนส่ง ธุรกิจสปา และธุรกิจค้าส่งค้าปลีก จำหน่ายสินค้าที่ระลึก ธุรกิจนันทนาการ และธุรกิจเพื่อความบันเทิง

    – ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอาหาร ได้แก่ เครื่องดื่ม ร้านกาแฟ ขนม เบเกอรี่ เป็นต้น โดยตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนำร่องเปิดการท่องเที่ยว และจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด   รวม 35 จังหวัด  ประกอบด้วย 1. กรุงเทพมหานคร  2. กาญจนบุรี 3.ชลบุรี  4.ฉะเชิงเทรา 5. ตาก  6. นครปฐม  7. นครนายก  8. นครราชสีมา  9. นราธิวาส 

    10.นนทบุรี  11.ปทุมธานี  12.ประจวบคีรีขันธ์  13.ปราจีนบุรี  14.พระนครศรีอยุธยา  15.เพชรบุรี  16.ปัตตานี  17.เพชรบูรณ์  18.ยะลา  19.ระยอง  20.ราชบุรี  21.ลพบุรี  22.สงขลา  23.สิงห์บุรี  24.สมุทรปราการ  25.สมุทรสงคราม  26.สมุทรสาคร  27.สระบุรี 28.สุพรรณบุรี  29.อ่างทอง  30.ภูเก็ต 31.กระบี่  32.พังงา 33.สุราษฎร์ธานี 34.เชียงใหม่  และ 35.บุรีรัมย์    หรือที่จะมีประกาศเพิ่มเติมในอนาคต

      สำหรับผู้ประกอบการที่ได้เคยแจ้งความประสงค์ยื่นกู้ในโครงการดังกล่าวเข้ามาแล้ว แต่ธุรกิจไม่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายเดิม แต่เข้าค่ายอยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่ปรับใหม่ ธนาคารจะนำข้อมูลกลับมาพิจารณา เพื่อพาเข้าสู่กระบวนการอำนวยสินเชื่อต่อไป

      ทั้งนี้ เกณฑ์การพิจารณา ยังให้สิทธิ์พิเศษเช่นเดิม  โดยดูจากแค่หลักฐานการเสียภาษีในปี 2563 หรือ 2562 ที่ผ่านมา  ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น

     ด้านคุณสมบัติผู้ยื่นกู้   ต้องเป็นสมาชิก สสว. กรณียังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สสว. สามารถขอขึ้นทะเบียนก่อนได้  ( http://members.sme.go.th/newportal/ )  เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มรายย่อย (Micro) และขนาดย่อม (Small) ตามนิยามของ สสว.  อีกทั้ง ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือเงินทุนในโครงการพลิกฟื้นฯ โครงการฟื้นฟูฯ หรือกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ รวมถึง  ต้องไม่เป็นหนี้ NPLs ไม่ถูกดำเนินคดี และไม่เป็นบุคคลล้มละลาย   ส่วนหลักประกัน  บุคคลธรรมดา ใช้บุคคลที่น่าเชื่อถือค้ำประกัน  นิติบุคคล ใช้กรรมการผู้มีอำนาจแทนนิติบุคคลค้ำประกัน
วงเงินกู้ สำหรับบุคคลธรรมดา  พิจารณาจากการชำระภาษี ภ.ง.ด.90 ในปี 2562 หรือ 2563 ที่สูงกว่า และความเป็นเจ้าของสถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท

     หากจำนวนเงินที่ชำระภาษี 0-10,000 บาท วงเงินกู้สูงสุด 100,000 บาท   , จำนวนเงินที่ชำระภาษี  10,001-20,000 บาท วงเงินกู้สูงสุด 200,000 บาท  และจำนวนเงินที่ชำระภาษีมากกว่า 20,000 บาทขึ้นไป วงเงินกู้สูงสุด 300,000 บาท  กรณีมีสถานประกอบการเป็นของตัวเองหรือบุคคลในครอบครัว ให้วงเงินเพิ่มอีกลำดับละ 50,000 บาท แต่รวมแล้วสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท   สำหรับนิติบุคคล ไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายในงบการเงินปี 2562 หรือ 2563 ที่สูงกว่า สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

    นางสาวนารถนารี กล่าวอีกว่า   ความคืบหน้าการดำเนินโครงการดังกล่าว  นับตั้งแต่เริ่มเปิดแจ้งความประสงค์จนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา  มียอดแจ้งความประสงค์เข้าเกณฑ์ได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้วกว่า  1 ใน 3 ของวงเงินทั้งหมด  และเมื่อมีการขยายกลุ่มเป้าหมาย คาดว่า ความต้องการสินเชื่อจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก  โดยการพิจารณาจะใช้กระบวนการมาก่อนมีสิทธิ์ก่อน (First Come First Serve)  กำหนดปิดรับแจ้งความประสงค์ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม 2564 นี้เท่านั้น หรือเมื่อเต็มวงเงิน   

     ดังนั้น   ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจ ขอให้รีบดำเนินการแจ้งความประสงค์โดยเร็ว ก่อนที่วงเงินจะเต็ม ผ่านช่องทางออนไลน์ ได้แก่ สแกน QR Code ในโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ หรือคลิก https://qrgo.page.link/VF6Ka รวมถึง เว็บไซต์ของ SME D Bank , Line OA : SME Development Bank  และแอปพลิเคชั่น : SME D Bank  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1357