“น้ำดื่มชมชน” บ้านธรรมชาติล่างแหลมงอบ อีกหนึ่งกิจกรรม “ซีพีเอฟ” ชุบชีวิต สร้างอาชีพ ให้พึ่งพาตนเอง

  •  
  •  
  •  
  •  
วิกฤตการระบาดของโควิด-19 กระทบวิถีการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน ผู้ประกอบการรายใหญ่ กลาง เล็ก ต้องตัดสินใจปิดกิจการ ลูกจ้างตกงาน คนทำมาค้าขายหาเช้ากินค่ำ ถูกกระทบด้านรายได้อย่างหนัก พื้นที่ท่องเที่ยวเงียบเหงา จากที่เคยมีรายได้จากนักท่องเที่ยว  
    ที่ ชุมชนบ้านธรรมชาติล่าง ชุมชนเล็กๆ ตั้งอยู่ในอำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพประมง ทำสวนและบางครัวเรือน มีรายได้จากการให้เช่าที่พัก เพราะที่นี่ เป็นจุดต่อเรือเฟอรี่เพื่อข้ามไปเกาะช้าง ชาวบ้านที่นี่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกัน แต่ด้วยความเข้มแข็งของชุมชน รวมตัวกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ทำให้มีอาชีพและรายได้เสริมรองรับ ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้พอสมควร
      ล่าสุด ชุมชนฯรวมตัวจัดตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนน้ำดื่มบ้านธรรมชาติล่าง” เดินหน้าแก้ปัญหาคุณภาพของน้ำดื่ม จนสามารถผลิตน้ำดื่มที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย เพื่อบริโภคและจำหน่าย ด้วยความเข้มแข็งของชุมชน ประกอบกับได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐซ่อมแซมและปรับปรุงอุปกรณ์การผลิตน้ำดื่ม ยังได้รับองค์ความรู้การบริหารจัดการและคำแนะนำที่ได้จากภาคเอกชน คือ โรงเพาะฟักลูกกุ้งภาคตะวันออก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ
    ทั้งนี้เป็นการให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน ชุดปฏิบัติงาน รางลำเลียงถังน้ำ รวมถึงการตรวจคุณภาพทางเคมีและจุลินทรีย์เบื้องต้น รวมทั้งโครงการประชารัฐช่วยด้านการขยายโครงสร้างฯ สาธารณสุขอำเภอและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้คำแนะนำขั้นตอนการขอรับรองมาตรฐานคุณภาพจากอย. (ได้รับการรับรองมาตรฐานน้ำดื่ม อย.23-2 -01262-6-0001)
     นางสาวรวงทอง วรฉัตร หรือต้อม ชาวบ้านในชุมชน ซึ่งมีอาชีพให้เช่าบ้านพักนักท่องเที่ยว และเป็นหนึ่งในสมาชิกวิสาหกิจชุมชนน้ำดื่มบ้านธรรมชาติล่าง เล่าว่า เมื่อปี 2551 ชุมชนฯ เคยรวมตัวกันเพื่อผลิตน้ำดื่มบริโภคและจำหน่าย แต่ตอนนั้นติดปัญหาตะกอนในน้ำ  น้ำกร่อย ทำให้ไม่มีตลาดรองรับ จึงล้มเลิกโครงการไป
     จนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทางกลุ่มกองทุนหมู่บ้านธรรมชาติล่างได้จัดประชุมกับสมาชิกและคณะกรรมการฯ โดยเชิญซีพีเอฟเข้าร่วม เพื่อชี้เเจงการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนน้ำดื่มบ้านธรรมชาติล่าง โดยมีเป้าหมายผลิตน้ำดื่มที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เราอยากทำโครงการผลิตน้ำดื่มให้สำเร็จ มองว่าเป็นการช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนในชุมชน สำคัญกว่านั้น ชาวบ้านอีกหลายร้อยครัวเรือน ได้บริโภคน้ำดื่มสะอาดและได้มาตรฐาน
     “ขอขอบคุณซีพีเอฟ ที่เข้ามาสนับสนุน ให้คำแนะนำ ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงผลิตน้ำดื่ม อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการขนส่ง อุปกรณ์ความปลอดภัย รวมถึงการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ที่ทำให้สามารถผลิตน้ำดื่มที่ได้มาตรฐาน เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน” รวงทอง กล่าว  
 
    ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนบ้านธรรมชาติล่างมีสมาชิก 98 ราย ปี 2563 ชุมชนมีปริมาณขายน้ำดื่ม 2,100 ถังต่อเดือน (ขนาด 18.9 ลิตร) รายได้รวม 268,000 บาทต่อปี โดยรายได้จากการจำหน่ายน้ำดื่ม 10 % นำเข้ากองทุนของชุมชน และในปี 2564 (ม.ค. – มิ.ย.) มีปริมาณยอดขายน้ำดื่มเพิ่มขึ้นเป็น 2,300 ถังต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้น 110 %
   ส่วนรายได้สะสมแล้ว 154,700 บาท โดยมีโรงเพาะฟักลูกกุ้งภาคตะวันออกของซีพีเอฟ ที่เป็นลูกค้าประจำออเดอร์น้ำดื่มชุมชนเดือนละ 1,000-1,500 ถัง  ที่เหลือเป็นออเดอร์จากชาวบ้าน ที่สามารถซื้อน้ำได้ในราคาถังละ 12 บาท ส่วนผู้สูงอายุและผู้มีรายได้น้อยในชุมชนสามารถซื้อน้ำดื่มได้ในราคาถังละ 10 บาท
     เช่นเดียวกับ นายพงศ์พัทธ์ เสริฐศรี หรือ“ตั้ว” เด็กหนุ่มวัย  18 ปี กำลังศึกษาชั้น ม.6 โรงเรียนแหลมงอบวิทยา จ.ตราด เป็นอีกคนหนึ่งที่มารับจ้างขนน้ำดื่มส่งให้ชาวบ้านในชุมชนทุกวันอาทิตย์ เล่าว่า วันจันทร์-ศุกร์ต้องไปเรียน จึงมารับจ้างขนน้ำได้แค่วันอาทิตย์วันเดียว มีหน้าที่ล้างถังและช่วยยกน้ำส่งในบ้าน เคยขนน้้ำส่งตามบ้านได้สูงสุด 300 ถัง/วัน รายได้เฉลี่ย 300-400 บาท ช่วยแบ่งเบาภาระของแม่ที่ต้องให้เงินตนไปโรงเรียนทุกวัน
   
      กระนั้นรายได้ของเขา คุณแม่ก็จะบอกให้เก็บเงินที่ได้จากการรับจ้างขนน้ำดื่มสำหรับเป็นเงินออม ตอนนี้ทำงานมาได้ 2-3 ปีแล้ว ภูมิใจที่แม้ยังเรียนอยู่ก็สามารถหารายได้ได้เอง ขอบคุณซีพีเอฟที่สนับสนุนคนในชุมชนให้มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้จากอาชีพที่ชุมชนเราทำเอง ไม่ต้องออกไปทำงานไกลบ้าน ชาวบ้านก็ได้บริโภคน้ำดื่มสะอาด ราคาถูก ดีต่อสุขภาพ
     ตั้ว บอกด้วยว่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่มีผลกระทบต่อปริมาณออเดอร์ที่ชาวบ้านสั่งน้ำดื่ม แต่การขนส่งน้ำต้องมีการระมัดระวังตัวเองมากขึ้น ทั้งใส่หน้ากากอนามัย สวมถุงมือ พกแอลกอฮอล์ติดรถไว้ตลอดเวลา เพื่อลดความเสี่ยงของตัวเองและลูกค้าที่สั่งน้ำดื่ม
   ขณะที่ นางอุทิศ พวงนาค อายุ 53 ปี อาชีพรับจ้างกรีดยาง กล่าวว่า ตนและพี่เขยมีอาชีพหลักคือรับจ้าง และมีอาชีพที่เป็นรายได้เสริมจากโครงการผลิตน้ำดื่มของชุมชน ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของที่บ้านได้พอสมควร โดยในแต่ละสัปดาห์ทุกวันอังคารและวันศุกร์จะไปส่งน้ำให้โรงเพาะฟักลูกกุ้งของซีพีเอฟ และวันอาทิตย์เป็นวันที่ออกส่งน้ำให้ชาวบ้าน แต่ละครั้งที่ออกไปส่งน้้ำจะช่วยกันประมาณ 4 คน ตั้งแต่ยกถัง ล้างถัง นำถังใส่เครื่องปั่นเพื่อทำความสะอาดด้านใน กรอกน้ำ ยกถังที่กรอกน้ำแล้วขึ้นรถ จนถึงขนถังน้ำลงจากรถเพื่อส่งตามบ้าน ขอบคุณซีพีเอฟที่เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมผลิตน้ำดื่มของชุมชน ช่วยให้ชาวบ้านมีอาชีพและมีรายได้เสริม    
      “โครงการน้ำดื่มชุมชน” ยังเป็นโครงการที่ได้รับรางวัลระดับ Gold Pitch จากการจัดประกวดรางวัลสามประโยชน์สู่ความยั่งยืน (CPF CSR Awards 2021) ในรอบ CSR Pitching Contest 2021 ที่ซีพีเอฟสนับสนุนให้พนักงานคิดสร้างสรรค์โครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม ตามกลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืนขององค์กร คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกและผู้บริหารของซีพีเอฟ ร่วมพิจารณาคัดเลือกให้ “โครงการน้ำดื่มชุมชน” ได้รับรางวัลดังกล่าว เป็นโครงการที่ส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง
    กลุ่มวิสาหกิจชุมชนน้ำดื่มบ้านธรรมชาติล่าง วางแผนต่อยอดโครงการผลิตน้้ำดื่ม ด้วยการพัฒนาแบรนด์และบรรจุภัณฑ์ เป็นน้ำดื่มบรรจุขวด สร้างโอกาสในการขยายช่องทางขายใหม่ อาทิ ภัตตาคาร ร้านอาหาร มินิมาร์ท โรงแรมและรีสอร์ท รวมไปถึงการขยายช่องทางการขายผ่านออนไลน์ เป็นโมเดลสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน