พิษโควิด อาชีพขับแท็กซี่เดือดร้อนอย่างหนัก เฉพาะที่เข้าในระบบสหกรณ์กระทบเต็มๆกว่าครึ่งแสนราย มีรายได้เพียงวันละ 300-500 บาท ต้องจ่ายค่าก๊าซ 200 บาท ค่าอาหารอีก 100 บาทต่อวัน ล่าสุด”มนัญญา” ผุดโครงการ “สหกรณ์ร่วมใจ ช่วยแท็กซี่ไทย สู้ภัยโควิด 19” มอบถุงยังชีพ บรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดรายได้ พร้อมผลักดันให้เข้าระบบประกันตนมาตรา 40 หวังได้เงินเยียวยา 5,000 บาท
วันที่ 16 สิงหาคม 2564 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดโครงการ “สหกรณ์ร่วมใจ ช่วยแท็กซี่ไทย สู้ภัยโควิด 19” โดยมีนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วย นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และผู้แทนจากชุมนุมสหกรณ์บริการเดินรถแห่งประเทศไทย จำกัด และตัวแทนสหกรณ์แท็กซี่ เข้าร่วมในกิจกรรมนี้ ณ สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ เขตดุสิต กรุงเทพฯ
นางสาวมนัญญา กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนทำให้ได้รับความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ซึ่งในส่วนของสมาชิกสหกรณ์แท็กซี่ กว่า 50,000 คน ก็ได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ และมีรายได้ไม่เพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่าย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงได้จัดทำโครงการ “สหกรณ์ร่วมใจ ช่วยแท็กซี่ไทย สู้ภัยโควิด 19” มอบถุงยังชีพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเป็นการช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้ขับรถแท็กซี่ ที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์แท็กซี่ต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร
สำหรับถุงยังชีพที่มอบในครั้งนี้ ประกอบด้วย ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำมันพืช นม น้ำดื่ม รวมทั้งเงาะ และมังคุด จากเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกสหกรณ์แท็กซี่ ในขณะเดียวกัน ยังเป็นการช่วยเหลือขบวนการสหกรณ์และเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ในพื้นที่ภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดรับซื้อผลผลิตของพ่อค้าในพื้นที่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อีกด้วย
นางสาวมนัญญา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันพบว่าจำนวนผู้โดยสารแท็กซี่ลดลงมากกว่า 50% ส่งผลกระทบทำให้รายได้ของสมาชิกสหกรณ์แท็กซี่ลดลงด้วยเช่นกัน โดยเฉลี่ยรายได้ต่อวัน 300 – 500 บาท เป็นค่าเติมก๊าซ ประมาณ 200 บาท ค่าอาหาร 100 บาท นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูครอบครัว ค่าน้ำ ค่าไฟ ทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น 2 ด้าน คือ ด้านค่าใช้จ่าย และด้านรายได้ เพื่อบรรเทาปัญหาในช่วงสถานการณ์โรคโควิด 19 ในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ได้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน เพื่อให้คนขับรถบริการ ที่อยู่ในระบบสหกรณ์ ทั้งรถแท็กซี่ สามล้อเล็ก รถสองแถวหรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เข้าสู่มาตรา 40 ของกฎหมายแรงงาน ให้มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลคนละ 5,000 บาท และการเข้าสู่กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ให้กับสมาชิกสหกรณ์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งจัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพสหกรณ์นอกภาคการเกษตร โดยจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ให้กู้ยืมไปประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ช่วงสถานการณ์โควิด
ส่วนปัญหาเรื่องที่จอดรถ ปัจจุบันสหกรณ์มีจำนวนแท็กซี่ที่จอดทิ้งเนื่องจากไม่มีคนขับประมาณ 5,000 คัน ซึ่งในเบื้องต้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดเตรียมพื้นที่ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดปทุมธานีและศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ที่ 1 และ 2 ให้จอดรถชั่วคราว รองรับรถแท็กซี่ได้ประมาณ 200 – 300 คัน นอกจากนี้ยังให้ประสานไปยังกรมธนารักษ์และการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือหาที่จอดรถให้เพียงพอกับจำนวนแท็กซี่ ขณะนี้ ได้พื้นที่จอดภายในโรงงานยาสูบ จอดได้ 150 คัน บริษัท CAT เทเลคอม จังหวัดนนทบุรี จอดได้ 120 คัน ที่ซอยเสรีไทย 66 พื้นที่ 10 ไร่ และที่ในเขตหนองจอกสามารถจอดได้ประมาณที่ละ 1,000 คัน และพื้นที่ของหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กรมชลประทาน ปากเกร็ด 300 คัน
ทั้งนี้ สหกรณ์แท็กซี่มีจำนวน 59 แห่ง มีสมาชิก 50,974 คน มีจำนวนรถแท็กซี่ 19,555 คัน ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มีหนังสือหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเยียวยาช่วยเหลือสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งผลกระทบด้านภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการ ค่าใช้จ่ายในการตรวจสภาพรถ ค่าเชื้อเพลิง และค่าเบี้ยประกันภัยภาคสมัครใจ ผลกระทบด้านการชำระหนี้สถาบันการเงิน รวมทั้งขอเข้าร่วมโครงการเยียวยาจากภาครัฐตามมาตรการต่าง ๆ แล้ว ซึ่งขณะนี้คาดว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความช่วยเหลือของแต่ละหน่วยงาน