สภาเกษตรกรฯร่วมกับ สสว.หนุนเกษตรกรก้าวไปสู่ภาคธุรกิจ “ผลิตเป็น…ค้าเป็น”

  •  
  •  
  •  
  •  

สภาเกษตรกรฯ ผนึกกำลัง สสว.ยกระดับเกษตรกรให้ “ผลิตเป็น…ค้าเป็น” ม่งหวังสู่ภาคธุรกิจภายใต้ เน้นที่ 3 กลุ่ม “เกษตรกรรายย่อย-วิสาหกิจชุมชน-ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี” ดึงภาคอธุรกิจเอกชนที่ประสบความสำเร็จ มาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง จับคู่กับ 3 กลุ่มเป้าหมายเริ่มในเดือนสิงหาคม 2564 นี้ 

     นายรัตนะ สวามีชัย เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สถานการณ์วิกฤตไวรัสโคโรนา 2019 ระบาด หลายหน่วยงานเห็นความสำคัญภาคการเกษตรและยื่นมือเข้าช่วย โชคดีที่ประเทศไทยไม่วิกฤตซ้ำซ้อนเรื่องของอาหารและเกษตรกรมีความเข้มแข็ง สภาเกษตรกรแห่งชาติมีหลักคิดต้องการที่จะพัฒนาธุรกิจให้กับกลุ่มคน 3 กลุ่ม คือ 1.เกษตรกรรายย่อย 2.วิสาหกิจชุมชน และ 3.ผู้ประกอบการ(MSMEs) จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ภายใต้ “โครงการพัฒนาระบบให้เอกชนสามารถเป็นหน่วยงานส่งเสริม MSMEs ปีงบประมาณ 2563”

     ทั้งนี้เพื่อสร้างกลไกการสนับสนุนให้ผู้ให้บริการทางธุรกิจภาคเอกชนสามารถเข้ามามีบทบาทในการยกระดับศักยภาพการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ MSME ในประเด็นที่ตรงกับความต้องการ เพื่อให้มีกระบวนการต้นแบบในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการ MSMEs ผ่านระบบผู้ให้บริการทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ และสร้างโอกาสให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการ MSME มากยิ่งขึ้น

      กลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มดังกล่าวข้างต้น ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และ/หรือจดทะเบียนถูกต้องกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด (สกจ.) ได้คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ รวม 96 กลุ่ม ได้แก่ วิสาหกิจชุมชน 82 กลุ่ม สหกรณ์ 5 กลุ่ม บริษัท 4 กลุ่ม ห้างหุ้นส่วน 3 กลุ่ม และ กลุ่มเกษตรกร 2 กลุ่ม แบ่งเป็น ภาคเหนือ 26 กลุ่ม ภาคอีสาน 24 กลุ่ม ภาคกลาง 29 กลุ่ม และภาคใต้ 17 กลุ่ม ภายใต้งบประมาณ 8,800,000 บาท โดยดำเนินการภายในเดือนสิงหาคม 2564

      หลักการคือธุรกิจเอกชนที่ประสบความสำเร็จแล้ว ลงไปทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงหรือโค้ช จับคู่กับกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน แล้วก็กลุ่มผู้ประกอบการ MSME เพื่อทำให้เป็นระบบธุรกิจมากขึ้น ขอบเขตคือ การเพิ่มผลิตภาพและเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร , คุณภาพมาตรฐานสินค้า และบริการ , การพัฒนาช่องทางการค้าและการตลาด

     สุดท้ายคือช่องทางการค้าต่างประเทศ ซึ่งเกษตรกรสามารถเลือกในสิ่งที่ตัวเองต้องการพัฒนาพร้อมกับเลือกพี่เลี้ยงหรือโค้ชที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนั้นๆมาถ่ายทอดทักษะ ประสบการณ์ องค์ความรู้ให้ ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติ ต้องการเห็นกลุ่มเกษตรกร ชุมชน มีความเข้มแข็งและเป็นต้นแบบในชุมชนขยายพื้นที่ต่อๆไป เกษตรกรต้องเป็น ‘ผู้ผลิตและค้าเป็น’