SME D Bank  เดินหน้าปล่อยกู้ “สินเชื่อฟื้นฟู” อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2% ต่อปี 2 ปีแรก หนุนเอสเอ็มอีไทยก้าวผ่านวิกฤตโควิด

  •  
  •  
  •  
  •  

นารถนารี รัฐปัตย์

SME D Bank ขานรับนโยบายภาครัฐ เดินหน้าหนุนเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้เข้าถึงความช่วยเหลือผ่านมาตรการเติมทุนเสริมสภาพคล่อง “สินเชื่อฟื้นฟู” อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2% ต่อปี ใน 2 ปีแรก

     นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า ธนาคารในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ขานรับนโยบายภาครัฐ ช่วยเหลือลูกค้าธนาคาร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19   ให้เข้าถึงเงินทุน นำไปเสริมสภาพคล่อง ฟื้นฟูธุรกิจ  รักษาการจ้างงาน สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้  ผ่านมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) ของกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 

      สำหรับสินเชื่อฟื้นฟู เปิดกว้างคุณสมบัติบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล กู้ได้ทั้งลูกค้าเดิม และลูกค้าใหม่ กำหนดวงเงินขอสินเชื่อต่อราย สำหรับลูกค้าเดิม ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อที่มีอยู่กับธนาคาร ณ 31 ธ.ค. 62 หรือ 28 ก.พ. 64 แล้วแต่จำนวนใดจะสูง (หากเคยได้รับวงเงิน Soft Loan เดิมตาม พ.ร.ก. ให้นับรวมด้วย)   อีกทั้ง ไม่เป็น NPL ณ 31 ธ.ค. 62  และสำหรับลูกค้าใหม่ ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่ออยู่กับสถาบันการเงิน ณ 28 ก.พ. 64  ขอสินเชื่อได้สูงสุดไม่เกิน  20 ล้านบาท


     ทั้งนี้  ลูกค้าทั้งสองกลุ่ม จะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพียง 2% ต่อปี ใน 2 ปีแรก  พร้อมทั้งได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก จากการสนับสนุนชดเชยของรัฐบาล หลังจากนั้น อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามเกณฑ์ธนาคาร โดยตลอด 5 ปีแรก เฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี  กำหนดระยะเวลาผ่อนนานสูงสุด 7 ปี อีกทั้ง ได้รับการยกเว้นชำระคืนเงินต้น (Grace Period) สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ นอกจากนั้น ยังได้รับการค้ำประกันจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ตลอดอายุสัญญา

      “ธนาคารหวังเป็นอย่างยิ่ง ที่จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญขับเคลื่อนมาตรการภาครัฐในครั้งนี้ โดยได้มอบนโยบายให้ทีมงานเจ้าหน้าที่ ทั้งส่วนกลางและสาขา เร่งแนะนำลูกค้าและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึง “สินเชื่อฟื้นฟู” ช่วยให้มีเงินทุนไปเสริมสภาพคล่อง รักษาการจ้างงาน และประคับประคองให้ก้าวผ่านช่วงเวลายากลำบากนี้ไปให้ได้” นางสาวนารถนารี กล่าว

      สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจ แจ้งความประสงค์ขอสินเชื่อผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ เช่น  เว็บไซต์ของ SME D Bank (https://www.smebank.co.th/) , LINE OA : SME Development Bank          และแอปพลิเคชัน SME D Bank ดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android เป็นต้น รวมถึง ทุกสาขาของ SME D Bank ทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1357