แม่โจ้ มอบเครื่องอบแห้งระบบถาดหมุน 8 เครื่องให้โครงการหลวงสะโง๊ะ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

  •  
  •  
  •  
  •  

แม่โจ้ มอบเครื่องอบแห้งระบบถาดหมุนที่วิจัยและพัฒนาขึ้นมาเองจำนวน 8 เครื่อง สนับสนุนการทำงานศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ หวังช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

    วันที่ 11 มีนาคม 2564 รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดี และ ผศ. ดร.ฤทธิชัย อัศวราชันย์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หัวหน้าโครงการวิจัย ได้มอบเครื่องอบแห้งระบบถาดหมุน จำนวน 8 เครื่อง ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมของทีมวิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้กับมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ โดยมีนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นผู้แทนรับมอบ ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

     ผศ.ดร.ฤทธิชัย อัศวราชันย์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า เครื่องอบแห้งระบบถาดหมุน ที่ส่งมอบให้กับโครงการหลวงในวันนี้ เป็นผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)และทุนเพิ่มเติมจากครอบครัวอัศวราชันย์ ซึ่งเริ่มทำการศึกษาวิจัยมาตั้งแต่ปี 2556 โดยมีทีมงานวิจัยได้แก่ รศ.เสมอขวัญ ตันติกุล, นายประพันธ์ จิโน คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร และ นายบุญธรรม บุญเลา หัวหน้างานสนับสนุนโครงการตามพระราชดำริ กองบริหารงานบริการวิชาการ สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตรมหาวิทยาลัยแม่โจ้

     ทั้งนี้เพื่อศึกษาพัฒนาปรับปรุงเครื่องอบแห้งให้ได้มาตรฐานให้กับโครงการหลวงสะโง๊ะ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี จากนั้น เมื่อปี 2562 ทางทีมวิจัยได้รับทุนอีกครั้งเพื่อพัฒนาเพิ่มเติมภายใต้ 1).โครงการการพัฒนากระบวนการแปรรูปดอกคาร์โมมายล์และดอกเบญจมาศป่า(เก๊กฮวย)อบแห้ง และ2).โครงการการพัฒนากระบวนการแปรรูปดอกคาโมมายล์ ดอกเบญจมาศป่า(เก๊กฮวย)และพืชสมุนไพรอบแห้ง ซึ่งจากเดิมได้ผลผลิตอบแห้ง 600 กิโลกรัม/ฤดูกาลเก็บเกี่ยว เพิ่มขึ้นเป็น 10.5 ตันแห้ง / ฤดูกาลเก็บเกี่ยว ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น สามารถเพิ่มราคารับซื้อดอกเก๊กฮวย จาก 20 บาทเป็น 47 และคาโมมายล์ จาก 50 บาท เป็น 70 บาท สร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรในโครงกการได้มากยิ่งขึ้น