กรมชลประทาน พลิกวิกฤตผักตบชวาเต็มพื้นที่แหล่งน้ำนับแสนตันต่อปีมาเป็นวัตถุดิบ เปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการแปลงสภาพผักตบชวาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ (พลังง้วนดิน) ให้เกษตรกรนำไปประโยชน์หลายอย่างตามสูตร ชี้ทำให้เกษตรกรลดต้นทุนได้มากกว่า 80% ในพื้นที่เท่าๆ กัน แถมมีรายได้ที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด หวังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
วันที่ 26 กันยายน 2563 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการแปลงสภาพผักตบชวาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ (พลังง้วนดิน) ในเขตสำนักงานชลประทานที่ 12 โดยมีอาจารย์เสถียร ทองสวัสดิ์ ประธานศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นวิทยากรในโครงการฝึกอบรมครั้งนี้ ณ ศูนย์เรียนรู้และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล
ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า ผักตบชวา นับเป็นวัชพืชที่มีการแพร่พันธ์ุและเติมโตได้อย่างรวดเร็วในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคในการระบายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาท พื้นที่รับน้ำจากทางตอนบนของประเทศแห่งสุดท้ายก่อนปล่อยน้ำให้ไหลลงสู่ทะเล ด้วยเหตุนี้เองในแต่ละปีมักจะพบผักตบชวาและวัชพืชสะสมบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ประมาณ 80,000 – 100,000 ตันต่อปี
ดังนั้นกรมชลประทาน จึงได้จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการแปลงสภาพผักตบชวาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ (พลังง้วนดิน) ในเขตสำนักงานชลประทานที่ 12 จำนวน 3 รุ่น ประกอบด้วย รุ่นที่ 1 จัดขึ้นในวันเสาร์ ที่ 26 กันยายน 2563 บริเวณโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าพระยา รุ่นที่ 2 จัดขึ้นในวันอาทิตย์ ที่ 27 กันยายน 2563 บริเวณโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก และรุ่นที่ 3 จัดขึ้นในวันจันทร์ ที่ 28 กันยายน 2563 บริเวณโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายางมณี มีผู้เข้าร่วมอบรมรุ่นละ 50 คน
เสถียร ทองสวัสดิ์
สำหรับเทคโนโลยีเกษตรสรรพสิ่งอะตอมมิคนาโน (พลังง้วนดิน) จะใช้สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น พืชผัก ปุ๋ยคอก ดินโคลน รำอ่อน ฯลฯ เรียกรวมว่า “สรรพสิ่ง” เพราะเป็นวัสดุที่หาได้รอบตัว แม้แต่ต้นไม้ใบหญ้าหรือเศษของเหลือจากการเกษตร นำมาใช้ผสมตามสูตรที่คิดค้นขึ้น เพื่อใช้ในการเกษตรตั้งแต่การนำมาปรับปรุงดิน บำบัดน้ำ เป็นปุ๋ย เป็นอาหารสัตว์ ดูดอากาศพิษ ไล่แมลง แล้วแต่การผสมสูตร
” การทำเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีสรรพสิ่งอะตอมมิคนาโน หรือ ง้วนดิน เป็นการนำเอาวัตถุดิบจากธรรมชาติมาผสมกัน แล้วนำไปหมักให้เกิดจุลินทรีย์และแพลงตอนที่เป็นประโยชน์ต่อดิน พืช และสัตว์ ลดต้นทุนของเกษตรกรได้มากกว่า 80% ในพื้นที่เท่าๆ กัน เกษตรกรที่ใช้เกษตรสรรพสิ่งอะตอมมิคนาโนจะมีต้นทุนต่ำกว่า และมีรายได้ที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด” นายปประภัตร กล่าว