“มนัญญา”ชี้ อนิสงค์ นำยางพาราผลิตอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยทางถนน ทุบสถิติราคายางพุ่ง กก.60 บาท

  •  
  •  
  •  
  •  

 

                               พิธรเปิดโครงการนำร่องการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนนที่ จ.สตูล

“มนัญญา”  ชี้ผลการดำเนินโครงการนำร่องการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน จะใช้น้ำยางสดจากเกษตรกรเพื่อใช้ในการผลิตถึง 1.007 ล้านตัน ทำให้เงินสะพัดในกลุ่มเกษตกรชาวสวนยางตลอดโครงการยันถึงปี 2565 กว่า 3 หมื่นล้านบาท   แถมทุบสถิติราคายางพุ่งถึง กก.ละ 60 บาท

      นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดผยภายหลังร่วมพิธีเปิดโครงการนำร่องการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick off) โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิด และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมพิธีเปิด ณ จังหวัดสตูล ว่าโครงการนำร่องการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนนที่ จ.สตูล เป็นการส่งเสริม สนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยาง โดยรับซื้อน้ำยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยางผ่านสหกรณ์การเกษตร

     ทั้งนี้เพื่อร่วมมือในการนำอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา ได้แก่ แผ่นธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต  และหลักนำทางจากยางธรรมชาติ  สำหรับนำไปใช้ประโยชน์เป็นอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัย จึงมั่นใจว่าการดำเนินการร่วมกันในครั้งนี้จะสามารถสร้างความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ให้กับสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรชาวสวนยางพาราได้อีกทางหนึ่ง

       นางสาวมนัญญา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีสหกรณ์ทำธุรกิจยางพารา ธุรกิจรวบรวมน้ำยางสด รวบรวมยางก้อนถ้วยแปรรูปยางแผ่นรมควัน แปรรูปยางเครป แปรรูปยางแท่ง และแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง จำนวน 661 แห่ง ปริมาณธุรกิจ 475,258 ตัน/ปี มูลค่า 16,998 ล้านบาท/ปี ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ แก่สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน จำนวน 2 ครั้ง ที่จังหวัดสตูลและจังหวัดจันทบุรี

 อย่างไรก็ พบว่าที่มีศักยภาพในการผลิตแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (RFB) จำนวน 18 แห่ง กำลังการผลิต 1,200 กิโลเมตร/ปี หลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) จำนวน 13 แห่ง กำลังการผลิต 832,800 ต้น/ปี  และจะมีการขยายผลให้สหกรณ์เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม คาดว่าจะได้รับการเข้าร่วมโครงการจากสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน มีการแปรรูปเพิ่มมูลค่ายางพารา จำนวน 31 แห่ง สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพาราได้ 5,384.09 ล้านบาท ซึ่งจากการคาดการณ์ในระยะที่ 1 นี้ จะสามารถรวบรวมน้ำยางสดจากเกษตรกรได้ 34,481 ตัน และเมื่อคิดตลอดโครงการฯ ถึงปีงบประมาณ 2565 จะรวบรวมน้ำยางสดจากเกษตรกรเพื่อใช้ในการผลิตได้ 1.007 ล้านตัน  คิดเป็นเงินที่เกษตรกรจะได้รับ 30,018 ล้านบาท

หลังจากการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงคมนาคม ในเรื่องการผลิต “แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต” และ “หลักนำทางยางธรรมชาติ” เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ปรากฏว่า ราคายางพาราทำลายสถิติเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ราคายางพาราสูงถึง 60 กว่าบาทต่อกิโลกรัมมาอีกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา จึงเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพของราคายางพาราในประเทศไทย” รมช.เกษตรฯ กล่าว