กรมหม่อนไหม โชว์ความสำเร็จ พัฒนาอาชีพเกษตรกรปลูกหม่อนพื้นที่ 3 จังหวัด

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมหม่อนไหม โชว์ผลสำเร็จการพัฒนาอาชีพปลูกหม่อนพื้นที่สระบุรี ลพบุรีและชัยนาท จนสามารถยกระดับผ้าไหมเข้าสู่มาตรฐาน ตรานกยูงพระราชทาน แถมยังสามารถสร้างอาชีพทางเลือกจากปลูกหม่อนผลสด ปลูกหม่อนเป็นอาหารสัตว์ และส่งออกญี่ปุ่นด้วย

     นางนงลักษณ์ เกตุเวชสุริยา รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างลงพื้นที่ จ.สระบุรี ลพบุรี และจังหวัดชัยนาทว่า กรมหม่อนไหม เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงห่วงใยเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหม จึงทรงมีพระราชประสงค์ให้มีหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของประเทศอย่างเป็นระบบ ครบวงจร นำมาสู่การจัดตั้งกรมหม่อนไหม เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2552

      ดังนั้นจึงมีพันธกิจที่สำคัญในการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาด้านหม่อนไหม เพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศ พัฒนากระบวนการผลิตด้านหม่อนไหมให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน พัฒนาสินค้าหม่อนไหมเพื่อเพิ่มมูลค่า และแสวงหาช่องทางด้านการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และพัฒนาระบบการบริหารจัดการงานและบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

     ด้าน นางสาวลำแพน สารจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สระบุรี กล่าวว่า ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สระบุรี มีพื้นที่รับผิดชอบดูแลใน 10 จังหวัดประกอบด้วย จังหวัดสระบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และนครนายก โดยได้ดำเนินงานตามนโยบายของกรมหม่อนไหมตามแผนปฏิบัติราชการทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าหม่อนไหมให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดสินค้าหม่อนไหมในระดับนานาชาติ ยกระดับงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านหม่อนไหม และเสริมสร้างองค์กรให้มีสมรรถนะสูง จนเกิดการพัฒนาของเกษตรกรและกลายเป็นต้นแบบเพื่อให้เกษตรกร และประชาชนทั่วไปที่สนใจได้มาศึกษาเรียนรู้ ประกอบด้วย

      หนึ่ง โครงการส่งเสริมการปลูกหม่อนผลสดเป็นพืชทางเลือก ที่สายทองฟาร์มของนางสายสุนีย์ สุวรรณดี ตั้งอยู่ที่ 77/1 บ้านกลุ่มพระบาท หมู่ที่ 9 ตำบลหนองย่างเสือ อำเภอหมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เป็นหนึ่งในเกษตรกรต้นแบบที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สระบุรี ได้เข้ามาสนับสนุนด้านองค์ความรู้ทีเกี่ยวกับการปลูกหม่อนผลสดเป็นพืชทางเลือก และการสนับสนุนพันธุ์ต้นหม่อน ซึ่งในวันนี้ สายทองฟาร์ม ได้กลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานที่สำคัญจากผู้สนใจทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีรายได้และอาชีพที่มั่นคงจากการจำหน่ายผลผลิตที่ แปรรูปจากผลหม่อน เช่น น้ำลูกหม่อน แยมมัลเบอร์ลี่ อีกทั้งยังได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของอำเภอมวกเหล็ก

     สอง โครงการส่งเสริมการปลูกหม่อนเป็นอาหารสัตว์ ที่ตำบลโคกตูม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี โดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สระบุรี ได้ทำงานแบบบูรณาการความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)สาขาโคกตูม สำนักงานจังหวัดลพบุรี และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาเกษตรกรให้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงต่อไป ด้วยการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกหม่อนพันธุ์สกลนครเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ ทั้งใช้ในฟาร์มของเกษตรกรและเพื่อจำหน่ายผ่าน สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า (สกต.) ของ ธ.ก.ส.  ซึ่งมีการส่งออกใบหม่อนแห้งบดไปยังประเทศ พร้อมกันนี้ยังได้สนับสนุนเกษตรกรให้มียกระดับมาตรฐานการปลูกหม่อนภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาหม่อนไหมหัตถกรรมโดยใช้นวัตกรรมใหม่ “การผลิตหม่อนใบตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)” สำหรับหม่อนเพื่อผลิตใบ มกษ. 3500-2553

     สาม โครงการส่งเสริมการผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนากลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ตามข้อบังคับกรมหม่อนไหม หมู่บ้านอนุรักษ์ผ้าพื้นถิ่น ตำบลเนินขาม อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท แหล่งผลิตผ้าไหมขึ้นชื่อ โดยเฉพาะ“ลายช่อมะขาม”อันเป็นลวดลายเอกลักษณ์ของบ้านเนินขามที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สระบุรี ได้เข้ามาช่วยพัฒนากลุ่มทอผ้าในพื้นที่ จำนวน 10 กลุ่ม จนสามารถยกระดับการผลิตและผ่านการตรวจรับรองได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยสัญลักษณ์นกยูงไทย ในระดับ นกยูงสีเงิน หรือ Classic Thai Silk ได้ถึง 9 กลุ่มแล้วในขณะนี้

     “ทั้งหมดนี้ เป็นผลสำเร็จในการปฏิบัติงานเพื่อสนองพระราชดำริ รวมถึงตามนโยบายของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มาจากความร่วมมือร่วมใจของกรมหม่อนไหม ตั้งแต่การพัฒนาหม่อนไหมทั้งระบบ ตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์ การอนุรักษ์และคุ้มครองพันธุ์ การตรวจสอบและรับรองมาตรฐานหม่อนไหม การส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดหม่อนไหม จนทำให้เกษตรกรประสบผลสำเร็จ มีอาชีพที่ยั่งยืน และมีรายได้ที่มั่นคง อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 และที่สำคัญคือ เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาหม่อนไหมให้คงอยู่กับประเทศไทยสืบไป” นางสาวลำแพน กล่าว