สหรัฐฯอาจจะเสียตลาดถั่วเหลืองในจีนอย่างถาวร
รายงานของ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ที่มีการอ้างอิงกรณีที่ สื่อท้องถิ่นในประเทศจีน ‘China Daily’ ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ได้รายงานบทความเรื่องถั่วเหลืองของสหรัฐฯ อาจสูญเสียตลาดจีน โดยมีการยกประเด็นเรื่องจำนวนประชากรจีนที่มีมากกว่า 1,300 ล้านคน ทำให้จีนเป็นตลาดสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ซึ่งในบรรดาสินค้าเกษตรทั้งหมดนี้ จีนมีความต้องการถั่วเหลืองมากที่สุด เนื่องจากใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเต้าหู นมถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลืองและอาหารสัตว์ ทั้งนี้จีนเป็นประเทศที่มีความต้องการถั่วเหลืองมากถึง 1 ใน 3 ของความต้องการทั่วทั้งโลก
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลค์
ในปี 2560 สหรัฐฯ ส่งออกถั่วเหลืองไปจีนร้อยละ 56.9 ตามด้วยเม็กซิโกร้อยละ 7.4 ญี่ปุ่นร้อยละ 4.5 อินโดนีเซียร้อยละ 4.3 และเนเธอร์แลนด์ร้อยละ 3.6 โดยข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่าถั่วเหลืองเป็นหนึ่งในสินค้าที่สหรัฐฯ ส่งออกไปจีนมากสุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รองจากเครื่องบินพลเรือนและรถยนต์ และตามรายงานของศูนย์ข้อมูลธัญพืชและน้ำมันแห่งชาติของจีน (China Grain and Oils Information Center) คาดว่าจีนจะนำเข้าถั่วเหลือง 89 ล้านตันในปี 2562
สภาการส่งออกถั่วเหลืองของสหรัฐฯ (The US Soybeans Export Council) รายงานว่า สหรัฐฯ ส่งออกถั่วเหลืองมูลค่ากว่า 12,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปจีนในปี 2560 แต่ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2561 ในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ มูลค่าการส่งออกลดลงเหลือเพียง 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไป อาจทำให้จีนหยุดซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ แล้วนำเข้าจากประเทศอื่นทดแทนเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ
บราซิล – อาร์เจนตินา -รัสเซีย แหล่งซัพพลายถั่วเหลืองจีน
ในประเทศต่าง ๆ เช่น บราซิลและอาร์เจนตินา ซึ่งมีสภาพอากาศและดินที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูกถั่วเหลือง ได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลือง ทำให้ในปี 2555 บราซิลได้กลายเป็นผู้ส่งออกถั่วเหลืองรายใหญ่ที่สุดของโลกแซงหน้าสหรัฐฯ นับจากนั้นเป็นต้นมา โดยบราซิลส่งออกถั่วเหลืองไปจีน 66.1 ล้านตัน
ในขณะที่อาร์เจนตินาส่งออกถั่วเหลืองไปจีนประมาณ 5-10 ล้านตัน/ปี ดังนั้น หากจีนหยุดซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ จะทำให้บราซิลและอาร์เจนตินาสามารถเข้ามาแทนที่สหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้ รัสเซียก็พยายามเพิ่มการส่งออกถั่วเหลืองไปจีนเช่นกัน โดยในปี 2561 รัสเซียส่งออกถั่วเหลืองไปจีนเพิ่มมากกว่า 10 เท่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยมีปริมาณมากถึง 1 ล้านตัน
ทั้งนี้ แม้ว่าการส่งออกของรัสเซียจะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 ของการนำเข้าถั่วเหลืองของจีน แต่รัสเซียก็มีศักยภาพสูงที่จะขยายการผลิตถั่วเหลืองและเพิ่มการส่งออก เนื่องจากดินแดนที่กว้างใหญ่และอยู่ใกล้กับจีนจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้อย่างมาก อีกทั้งจีนและรัสเซียยังมีความสัมพันธ์ทวิภาคีที่แน่นแฟ้น โดยจีนและรัสเซียได้ร่วมมือกันด้านเงินทุนและเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรในเขตภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย (Russia’s Far East) คาดว่ารัสเซียจะส่งออกถั่วเหลืองไปจีนมากถึง 2 ล้านตันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และอาจกลายเป็นแหล่งนำเข้าถั่วเหลืองที่สำคัญของจีนในระยะยาว
ทั้งนี้ เนื่องจากความต้องการถั่วเหลืองในจีนมีสูงมาก รัฐบาลจีนจึงหันมาสนับสนุนให้ชาวจีนปลูกถั่วเหลืองมากขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ ในปี 2562 พื้นที่การผลิตถั่วเหลืองทั้งหมดในจีนเพิ่มขึ้น โดยมีผลผลิตสูงถึง 16.8 ล้านตัน มากกว่าผลผลิตในปี 2561 ถึง 1.6 ล้านตัน นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่ใช้ทดแทนถั่วเหลืองได้ ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาการใช้ถั่วเหลืองของจีน เช่น การใช้น้ำมันจากผักกาดก้านขาว (Colza oil) และน้ำมันดอกทานตะวัน รวมทั้งการลดการใช้ถั่วเหลืองในอาหารปศุสัตว์
ไทยกับการนำเข้าถั่วเหลืองสหรัฐฯ
เชื่อว่าคงมีคำถาม ถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ จะไปไหน ? โดยในปี 2560 ไทยนำเข้าถั่วเหลือง 2.7 ล้านตัน เป็นการนำเข้าจากบราซิล 1.7 ล้านตัน สหรัฐฯ 9.6 แสนตัน จึงเป็นโอกาสของสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในไทย
ขณะที่สถานการณ์การผลิตถั่วเหลืองของไทย ปี 2561/62 พบว่า มีเนื้อที่เพาะปลูก 0.132 ล้านไร่ ผลผลิต 37,911 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2560/61 ลดลงจากเนื้อที่ 0.135 ล้านไร่ และผลผลิต 38,079 ตัน (ลดลงร้อยละ 2.22 และร้อยละ 0.44 ตามลำดับ) ในขณะที่ผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 287 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2560/61 ที่ให้ผลผลิต 281 กิโลกรัมต่อไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.14) ซึ่งเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตลดลงเนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง และต้องใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยว ประกอบกับผลตอบแทนจากการปลูกถั่วเหลืองต่ำกว่าพืชแข่งขันชนิดอื่น ส่วนผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเนื่องจากภูมิอากาศเอื้ออำนวย
หากมองถึงความต้องการใช้เห็นได้ว่าผลผลิตในประเทศมีไม่เกิน 4 ตัน หรือไม่ถึง 2 %ของความต้องการภายในประเทศดังนั้นกว่า 97 % คือการนำเข้าจากประเทศบราซิล สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา และแคนาดา โดยนำมาใช้สำหรับกลุ่มสกัดน้ำมัน กลุ่มอาหารสัตว์ (ถั่วนึ่ง) และกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร
ทั้งนี้ราคาถั่วเหลืองดิบคละเกรดอยู่ที่ 17- 20 บาทต่อกิโลกรัม ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการส่งเสริมการเพาะปลุกภายในประเทศ แต่ก็ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศ …น่าแปลกที่ว่าทำไมเกษตรกรถึงไม่นิยมปลูก แต่อาจด้วยเหตุผลที่ว่า ปัจจุบันถั่วเหลืองไม่จำกัดโควตานำเข้า แถมเปิดเสรีนำเข้าถั่วเหลืองภาษี 0 % ราคาซื้อขายตลาดล่วงหน้าที่ชิคาโก้ สหรัฐฯ อยู่ที่เฉลี่ยกิโลกรัมละ 10-11 บาท บวกลบต้นทุนค่าขนส่ง ค่านำเข้า แทบไม่ต่างจากราคาในประเทศ