การอาชีวศึกษาไทยช่วยสร้างชาติได้แน่นอนถ้ารัฐบาลจะจริงใจและจริงจัง

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย รศ.ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์

ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายทรัพยากรมนุษย์ TDRI

        “คุณภาพของผู้ที่กำลังเรียนเกือบ 1 ล้านคนในทุกระดับชั้นเรียนของทั้งวิทยาลัยของรัฐและเอกชน มีปัญหาเชิงคุณภาพค่อนข้างมากอันเกิดจากสาเหตุ 4 ประการ คือ 1) คุณภาพของผู้สมัครเรียนคะแนนไม่สูงนัก 2) คุณภาพของผู้สอนก็ยังไม่ดีนักขาดประสบการณ์ 3) หลักสูตรการเรียนการสอนไม่ทันสมัยและสวนใหญ่ไม่ใช่หลักสูตรฐานสมรรถนะ และ 4) เครื่องมืออุปกรณ์ล้าสมัย ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน”

       ความดิ้นรนของประเทศไทยที่จะหนีกับดักของประเทศกำลังพัฒนา (ที่มีรายได้ค่อนข้างสูง) ปัจจุบันมีรายได้ต่อหัวเพียงประมาณ USD 6,900 ในปี 2017และถ้ามีรายได้ต่อหัวสูงถึง USD 15,000 ในปี 2035 ไทยก็จะกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเป็นเช่นนั้นได้หัวใจสำคัญคือ อยู่ที่การเพิ่มผลิตภาพการผลิตของประเทศ และแน่นอนแรงงานหรือทรัพยากรมนุษย์เป็นหัวใจสำคัญลำดับต้นๆของการเพิ่มผลิตภาพทางการผลิต ซึ่งต้องการแรงงานที่มีคุณภาพหรือทักษะสูง แต่จากภาพข้างล่างนี้จะเห็นว่า 10 ปีที่ผ่านมาไทยยังจ้างแรงงานทักษะต่ำถึงปานกลางเป็นแรงงานเข้มข้นถึง 84% (skill 1&2) และใช้แรงงานระดับช่างเทคนิค (skill 3) และแรงงาวิชาชีพ (skill 4) เพียง 16% เท่านั้น ขณะที่ประเทศในเอเซียที่พัฒนาแล้วใช้แรงงานระดับสูง 60-70%

         สาเหตุที่ประเทศไทยยังจมปลักอยู่กับการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ก็เพราะความล้มเหลวในการกระจายความเจริญไปยังชนบทซึ่งมีประชากรที่เป็นคนทำงานยังใช้ชีวิตอยู่ในสาขาเกษตรมากกว่า 14 ล้านคน ถึงปัจจุบันยังต้องเผชิญชะตากรรมกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและผันผวน และพืชผลมีผลผลิตตกต่ำ ไม่แน่นอนขึ้นกับดินฟ้าอากาศ ทำให้ผลิตภาพของแรงงานในสาขาเกษตรต่ำสุดและเกือบจะไม่เปลี่ยนแปลงในช่วง เวลา10 ปีที่ผ่านมา มีเพียงภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีคนทำงานไม่เกิน 6 ล้านคน มีผลิตภาพแรงงานสูงสุด รองลงมาภาคบริการซึ่งมีคนทำงานอยู่มากกว่า 17 ล้านคน ดังนั้น ถ้าจะเร่งเพิ่มผลิตภาพแรงงานคงต้องเน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรมเป็นลำดับแรก ซึ่งสามารถเพิ่มผลิตภาพได้มากกว่า 30% ในรอบ 10 ปี (ดูภาพประกอบ)


        เมื่อเน้นดูการใช้กำลังคนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาดั้งเดิมของไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันจะพบว่า มูลค่าเพิ่มของสาขาอุตสาหกรรมเพิ่มปีละ 4% จ้างแรงงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 87,000 คนหรือ 1.2% ต่อปี เพิ่มต่ำกว่ามูลค่าเพิ่มจึงพอจะยืนยันได้ว่าผลิตภาพแรงงานสูงขึ้น เมื่อเน้นที่อุปสงค์เชิงคุณภาพของแรงงานพบว่า ยังใช้แรงงานไม่เกินทักษะระดับกลางและสูงถึง 85.4% ในปี 2560 เทียบกับ 84.3% ในปี 2550

       ข้อที่น่าสังเกตคือ มีการใช้แรงงานระดับ ปวช. และ ปวส. เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ถึง 2560 จาก 9.5% เป็น 11.9% ตามลำดับ แต่ถึงกระนั้นอุตสาหกรรมไทยยังจ้างแรงงานสายอาชีพน้อยมาก (ดูตารางประกอบ)


        จากการประเมินทิศทางการใช้กำลังคนในอดีตทำให้พอจะเห็นการเพิ่มสัดส่วนของการใช้กำลังคนอาชีวศึกษาในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่ยังไม่เป็นไปตามกรอบความคาดหวังของทางรัฐบาลในปัจจุบันที่ต้องการส่งเสริมให้อาชีวะสร้างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มการส่งเสริมอุตสาหกรรม 4.0 ภายใต้การส่งเสริมตามกรอบ EEC จำเป็นต้องใช้แรงงานระดับอาชีวศึกษาที่คิดเป็นทำเป็นใน 3 จังหวัด EEC ถึง 173,705 คน แต่ก็ยังผลิตกำลังคนไม่เพียงพอ(Excess demand) อีกถึง 55,462 คน หรือ 32%

        อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของผู้เขียนและ ดร. วรรณวิศา สืบนุสรณ์ พบว่า คุณภาพของผู้ที่กำลังเรียนเกือบ 1 ล้านคนในทุกระดับชั้นเรียนของทั้งวิทยาลัยของรัฐและเอกชน มีปัญหาเชิงคุณภาพค่อนข้างมากอันเกิดจากสาเหตุ 4 ประการ คือ 1) คุณภาพของผู้สมัครเรียนคะแนนไม่สูงนัก 2) คุณภาพของผู้สอนก็ยังไม่ดีนักขาดประสบการณ์ 3) หลักสูตรการเรียนการสอนไม่ทันสมัยและสวนใหญ่ไม่ใช่หลักสูตรฐานสมรรถนะ และ 4) เครื่องมืออุปกรณ์ล้าสมัย ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน

       จากประสบการณ์ของผู้เขียนซึ่งได้มีโอกาสไปดูงานหลายวิทยาลัยโพลีเทคนิคในประเทศจีนเมื่อตอนต้นเดือนมกราคมคิดว่าอาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการโดยเน้นไปที่การรับเด็กเรียนดี (จะยากจนหรือไม่ก็ได้) โดยสนับสนุนพวกเขาอย่างเต็มที่ด้วยการให้ทุนการศึกษาทุกคนที่สนใจมาเรียนจนถึงระดับ ปวส. (ในสาขาที่ต้องการ) โดยเรียนฟรี ที่พักฟรี (อยู่หอพัก) ตลอดหลักสูตร หรืออาจจะรับผู้จบ ปวช. เข้ามาทำงาน (ถ้าอายุครบ 18 ปี) แล้วให้ทำงานและเรียนไปด้วยโดยจะต้องเป็นความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการต้องการแรงงาน กับทางวิทยาลัยเทคนิคในเขตพื้นที่ ซึ่งอาจจำเป็นต้องอุดหนุนค่าเล่าเรียนและที่พักด้วยเช่นกัน โดยการันตีว่าจะมีงานทำและได้เงินเดือนสูงเทียบเท่าปริญญาตรีสายทั่วไป

       สำหรับครูช่างที่กำลังทยอยเกษียณและมีประสบการณ์หลายพันคนในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะต้องรับครูเข้ามาใหม่แทนคนเก่าและยกระดับครูรุ่นที่มีอยู่โดยในช่วง 2 ปีนี้สามารถรับความช่วยเหลือจากประเทศ วิทยาลัยโพลีเทคนิคของจีนหลายแห่งภายใต้โครงการ Belt and Roads initiatives ของจีน ส่งครูไปเรียนเพิ่มเติมในทุกสาขาที่นำมาสนับสนุนการพัฒนา EEC หรือการยกระดับเป็นอุตสาหกรรม 4.0 จุดเด่นของวิทยาลัยโพลีเทคนิคของจีนคือ มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยมากเพียงพอต่อการฝึกฝนเพื่อนำมาใช้ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ขณะเดียวกันสำหรับบางคนที่ต้องการยกระดับในประเทศ ทางคณะกรรมการอาชีวศึกษาของไทยจะต้องเร่งสร้างห้อง labs หรือห้องทดลองกลาง ซึ่งมี model ที่ใช้ในการฝึกทักษะอย่างครบวงจร ถ้าไม่สร้างใหม่ก็เลือกบางวิทยาลัยเทคนิคเป็นเป้าหมายการปรับปรุงภาคละอย่างน้อย 1 แห่ง ถ้างบประมาณไม่มีก็ควรพิจารณากู้เงินจากประเทศที่มาลงทุนในไทย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี หรือแม้แต่จีนเพื่อยกระดับครูช่างให้เพิ่มสมรรถนะสูงเพียงพอต่อการสอนปีละอย่างน้อย 300 คน

      ขณะเดียวกันต้องรับครูรุ่นใหม่เพิ่มเติมอาจจะเลือกมาจากผู้ที่จบจากเทคโนโลยีบัณฑิตที่เก่งจบจากสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศเอามาฝึกอบรมเพิ่มเติมถ้าทำสำเร็จจะเป็นทางออกที่มีครูช่างมากเพียงพอต่อการทดแทนครูช่างที่เกษียณ (ซึ่งยังมีตำแหน่งว่างไม่ได้บรรจุอีกมาก)

        สำหรับหลักสูตรอย่างน้อยต้องปรับให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะทุกระดับการศึกษา โดยใช้สมรรถนะที่ออกไปแล้วโดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพและ/หรือกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเอาไปปรับหลักสูตรโดยเฉพาะสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน หลักสูตรต้องเปลี่ยนได้รวดเร็ว ต้องทันสมัย ตัวอย่างที่ดีคือ การสร้างความร่วมมือวิทยาลัยเทคนิคของไทยกับวิทยาลัยโพลีเทคนิคของจีน ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่โดยสภาอาชีวศึกษาของกรุงเทพมหานคร โดยเลือกปรับหลักสูตรร่วมกันให้เด็ก ปวส. ของไทยสามารถไปศึกษาและฝึกงานเพิ่มเติมในวิทยาลัยฯ ของจีนที่ทำ MOU กันเป็นเวลา 1 ปี (2 เทอม) เพื่อเรียนรู้และฝึกใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในจีน เช่น สาขาคอมพิวเตอร์ ICT แอนิเมชัน การสร้างภาพยนตร์ การซ่อมบำรุงรถไฟธรรมดาและการขับรถไฟความเร็วสูง การซ่อมบำรุงอากาศยาน การสร้างโดรนและการฝึกบังคับโดรน ซึ่งจีนมีห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยทุกสาขาอาชีพหลักที่เป็นที่ต้องการของประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ใน 2 ปีนี้ทางประเทศจีนอาจจะยังสนับสนุนให้เรียนฟรีผู้ที่ได้รับการอุดหนุนให้เรียนฟรี จะได้อยู่หอพักฟรี อาจจะต้องจ่ายค่าเดินทางโดยเครื่องบินเท่านั้นเป็นต้น

       สำหรับผู้จบการศึกษาจากโครงการไทย-จีนจะการันตีงานให้ทำทุกคน เงินเดือนสูงกว่าในไทย ผู้จบจะได้ co-certificate (ของไทยและของจีน) ทำงานบริษัทไทยหรือบริษัทจีนในไทยได้

       ที่ผู้เขียนยกตัวอย่างความร่วมมือของไทยกับจีนเช่นนี้ ต้องการที่จะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชีวศึกษาและกระทรวงศึกษาของไทยได้ตระหนักว่า โลกให้ความสนใจกับผู้เรียนสายอาชีพอย่างจริงจังและจริงใจแค่ไหน เพราะเขามีความเชื่อว่าอาชีวศึกษาสร้างชาติได้จริง สำหรับประเทศไทยการทุ่มเทงบประมาณเพื่อการศึกษาในสายอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในสาขาต่างๆ ใน EEC หรือทิศทางใหม่ของยุคอุตสาหกรรมไทยแลนด์ 4.0 ยังไม่เป็นจริง ถ้ารัฐบาลไม่สามารถจัดสรรงบประมาณในการสร้าง “คนอาชีวะ” ได้ ควรจะค้ำประกันเงินกู้จากรัฐบาลต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งให้เงินกู้ปรับปรุงอาชีวศึกษาไทยมาหลายครั้งแล้ว หรืออย่างน้อยให้ความสนใจกับโครงการของจีนที่ให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่ากับประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมทั้งไทยอย่างน้อยก็ 2 ปีซึ่งก็ยังดีกว่า สอศ.