“อ.ยักษ์” นั่งหัวโต้ะเจรจาปัญหาผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา ย้ำให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พร้อมเร่งรัดดำเนินการ หนุนฟื้นฟูวิถีชีวิต ด้วยการน้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามศาสตร์พระราชามุ่งสู่การพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนเครือข่ายทามมูน บ้านผึ้ง ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ว่า จากที่มีกลุ่มเกษตรกรของจังหวัดศรีสะเกษได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนานั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการติดตามแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาใน 3 ประเด็นหลัก คือ
1) การศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงการสูญเสียรายได้จากการใช้ประโยชน์ป่าบุ่งป่าทาม เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศล โดยได้ให้คณะทำงานจัดทำร่างขอบเขตงานจ้างที่ปรึกษา(TOR) ดำเนินการศึกษาข้อเท็จจริง โดยจะเร่งรัดติดตามการดำเนินการของคณะศึกษา ซึ่งจะมีการลงนามสัญญาจ้างในเดือนมีนาคม 2562 นี้
2)การแก้ไขปัญหาค่าชดเชยผู้ได้รับผลประทบจากเขื่อนราษีไศล แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 กรณีที่ดินที่มีการทับซ้อน และส่วนที่ 2 กรณี 22 แปลงที่ยังไม่ยอมรับค่าชดเชยและผ่านการเข้าอุทธรณ์แล้ว โดยในส่วนกรณีที่มีการทับซ้อนกับแปลงที่ดิน ได้ดำเนินการจ่ายไปแล้ว 1,042 แปลง ส่วนกรณี 22 แปลงที่ยังไม่ยอมรับค่าชดเชยและผ่านการเข้าอุทธรณ์แล้วนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างรอเสนอ ครม. พิจารณา 21 แปลง จำนวน 20 ราย เป็นเงิน 6,460,672 บาท และรอเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา 1 แปลง จำนวน 1 ราย วงเงิน 18,288 บาท ทั้งนี้ ในการดำเนินงานจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และจะเร่งรัดติดตามการดำเนินการให้เร็วที่สุด
3) การดำเนินโครงการที่น้อมนำแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ตามศาสตร์พระราชาที่มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งได้ขับเคลื่อน โคก หนอง นา โมเดล โดยกรมชลประทาน ได้อนุมัติโครงการชลประทานเกษตรทฤษฏีใหม่ประยุกต์ เพื่อพัฒนาอาชีพในเขตพื้นที่เขื่อนราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ระยะที่ 1 โดยอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา พื้นที่ดำเนินการ 500 ไร่ งบประมาณ 13,250,000 บาท แบ่งเป็น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง 6,625,000 บาท พื้นที่ 250 ไร่ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหัวนา 6,625,000 บาท พื้นที่ 250 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ริมแม่น้ำมูลมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ตามแนวทางของศาสตร์พระราชาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบการพัฒนา “โคก หนอง นา โมเดล”
“ในการแก้ไขปัญหาจะไม่มุ่งเน้นจ่ายเงินให้ชาวบ้านเพียงอย่างเดียว เพราะเงินอาจหมดได้ภายใน 2-3 เดือน แต่ปัญหายังคงอยู่ ดังนั้น ทางออกที่ดีคือ ควรส่งเสริมให้ชาวบ้านทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนด้วยการสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ตามแนวทางของศาสตร์พระราชาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบการพัฒนา “โคก หนอง นา โมเดล” มีการจัดฝึกอบรมพัฒนาอาชีพ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลและหัวนา โดยเน้นเกษตรกรที่มีความตั้งใจทำเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง ทั้งนี้ เชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะช่วยลดผลกระทบและส่งเสริมให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน” นายวิวัฒน์ กล่าว