“กฤษฎา”แจงในรอบ 4 ปี กระทรวงเกษตรฯมีผลงานเพียบ

  •  
  •  
  •  
  •  

“กฤษฎา”สรุปผลงานการกระทรวงเกษตรฯในรอบ 4 ปี โวสามารถยกระดับรายได้เกษตรกรกว่า 1.3 ล้านครัวเรือน เพิ่มระบบชลประทานใหม่ 3,500 แห่ง ในพื้นที่เกษตร 2.8 ล้านไร่ ลดภาระหนี้สินสะสมของเกษตรกร 36,605 ราย เป็นเงินถึง 10,200 ล้านบาท

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาสรุปผลการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  (พ.ศ. 2557 – 2561)ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการปฏิรูปภาคการเกษตร สามารถยกระดับรายได้เกษตรกรกว่า 1.3 ล้านครัวเรือนได้เป็นผล โดยเร่งขับเคลื่อนแผนการผลิตของประเทศ มุ่งเน้นให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มผลิตสินค้าเกษตรตามความต้องการของตลาด ซึ่งได้มีการกำหนด “แผนการผลิตภาคการเกษตรของประเทศ” ขึ้นมาแก้ไขปัญหาและใช้แนวทาง “ตลาดนำการผลิต” โดยจะตรวจสอบความต้องการผลผลิตทางการเกษตรจากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

จากนั้นมาวางแผนส่งเสริมการผลิตทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ โดยกำหนดให้ผลิตในพื้นที่ที่เหมาะสม (Zonning by Agri-Map) และไม่ให้ผลิตมากเกินความต้องการของตลาด ตัวอย่างเช่น การร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ทำแผนข้าวครบวงจร ลดการทำนาปรังในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม แล้วส่งเสริมทำการเกษตรอื่น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้หาผู้ประกอบการมารับซื้อที่แน่นอน สามารถลดผลผลิตข้าวที่เกินความต้องการบริโภคและส่งออก ทำให้ราคาข้าวที่ตกต่ำนั้นมีราคาสูงขึ้นได้

นอกจากนี้ น้ำยังเป็นปัจจัยสำคัญของภาคการเกษตรจึงได้จัดทำระบบกระจายน้ำเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ทำระบบชลประทานใหม่ 3,500 แห่ง ในพื้นที่เกษตร 2.8 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำได้ 1,652 ล้านลูกบาศก์มตร อีกทั้งได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในลุ่มเจ้าพระยา โดยหาพื้นที่รองรับน้ำหลากในทุ่งบางระกำและทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง 12 ทุ่ง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และสนับสนุนการทำประมงเป็นรายได้เสริมในช่วงที่ใช้พื้นที่ดังกล่าวชะลอน้ำไว้

สำหรับการส่งเสริมการทำการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ปัจจุบันมี 4,007 แปลง พื้นที่ 5.1 ล้านไร่ เกษตรกรในโครงการ 300,000 คน มีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีมีกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ จากนั้นส่งเสริมให้สหกรณ์ 1,300 สหกรณ์เป็นหน่วยธุรกิจต่อรองราคาซื้อปัจจัยการผลิตและขายผลผลิตในราคาที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร 1.3 ล้านครัวเรือน ทำให้เกษตรกรมีรายได้ 2,750 บาทต่อไร่ รวมทั้งสิ้น 2,300 ล้านบาท

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า  แนวทางการเพิ่มช่องทางการตลาดนั้น นอกจากกระทรวงเกษตรฯ จะจับคู่ค้าให้ผู้ประกอบการมารับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกรโดยตรงแล้ว ยังได้กำหนดแผนพระพิรุณส่งเสริมตลาด e-commerce ขายผลผลิตทาง 0nline ด้วย จึงจำเป็นต้องสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตและช่องทางการตลาดใหม่ ๆ มาสานต่อประสบการณ์จากเกษตรกรรุ่นปัจจุบัน

[adrotate banner=”3″]

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ สามารถช่วยลดภาระหนี้สินสะสมของเกษตรกร 36,605 ราย จำนวน 10,200 ล้านบาท ตามที่ได้เสนอครม. เห็นชอบปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่เกษตรกรที่กู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้วกลายเป็นหนี้เสีย โดยจะจัดทำแผนพัฒนาอาชีพ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ไปชำระเงินกู้ตามสัญญาที่ทำกันใหม่ รวมถึงสามารถเลี้ยงชีพได้อย่างมั่นคง ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการการเกษตรแผนใหม่นั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้ปฎิรูปโครงสร้างการทำงานของหน่วยงานในพื้นที่ โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด (อ.พ.ก.) ขึ้น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และจะบูรณาการการทำงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นเอกภาพและแก้ปัญหาได้ตรงประเด็น

ทั้งนี้ โครงการสำคัญที่จะเริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายนนี้คือ โครงการปลูกพืชอื่นทดแทนนาปรัง ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมจะทำนา โดยจากการสำรวจความต้องการของตลาดพบว่า ประเทศไทยยังขาดแคลนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยความต้องการของโรงงานผลิตอาหารสัตว์มีมากถึง 8 ล้านตันต่อปี แต่ปัจจุบันยังผลิตได้เพียงครี่งเดียวคือ 4 ล้านตันต่อปี เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ข้าวนาปรังให้กำไร 306 บาทต่อไร่ ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กำไร 3,690 บาทต่อไร่ มากกว่าข้าว 10 เท่าตัว อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ จึงได้สร้างความมั่นใจให้เกษตรกร โดยสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเป็นทุน หาผู้รับซื้อมาทำสัญญาล่วงหน้า ตกลงราคารับซื้อขั้นต่ำ และประกันภัยพืชผล เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตเกษตรกรที่ร่วมโครงการอย่างแน่นอน จากนั้นจะใช้เป็นต้นแบบในการผลิตภาคการเกษตรของประเทศต่อไป