มกอช. เดินหน้าสร้าง “เกษตรกรรุ่นใหม่ ใส่ใจมาตรฐาน

  •  
  •  
  •  
  •  

มกอช. เดินหน้าสร้าง “เกษตรกรรุ่นใหม่ ใส่ใจมาตรฐาน” พัฒนาองค์ความรู้กระบวนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีมาตรฐานตลอดห่วงโซ่ นำไปสู่การประกอบอาชีพ สร้างรายได้ พร้อมกระตุ้นมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรกรรม ล่าสุดมอบโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณ แก่ผู้ชนะการประกวดฟาร์มมาตรฐานสินค้าเกษตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

วันที่ 6 กันยายน 2561 นายยุทธนา นรภูมิพิภัชน์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นประธานในพิธีมอบโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณ โครงการเกษตรเพื่อชีวิต“เกษตรกรรุ่นใหม่ ใส่ใจมาตรฐาน” รุ่นที่ 4 ประจำปี 2561 โดยมีนางสาวนลินทิพย์ เพณี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมมาตรฐาน กล่าวรายงาน ณ โรงแรมไมด้า เดอะซี หัวหิน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

นายยุทธนา กล่าวว่า มกอช. มีนโยบายในการเพิ่มศักยภาพและสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ สามารถพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ โดยเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความเข้าใจ ด้านการผลิตสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐาน เข้าใจระบบและกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารได้ตลอดห่วงโซ่ ดังนั้น มกอช.โดยกองส่งเสริมมาตรฐาน ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดทำโครงการเกษตรเพื่อชีวิต “เกษตรกรรุ่นใหม่ ใส่ใจมาตรฐาน” ขึ้น ตั้งแต่ปี 2558-จนถึงปัจจุบัน มีนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 11 ได้แก่ ชุมพร สุราษฏร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี พัทลุง ตรัง สงขลา และสตูล

รองเลขาธิการ มกอช. กล่าวอีกว่า นักศึกษาในวิทยาลัยเกษตรฯ ที่เข้าร่วมโครงการฯ ครั้งนี้ จะได้พัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี ด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) ในขอบข่ายพืชอาหาร ข้าว ประมง ปศุสัตว์ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในโครงการ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โดยมุ่งหวังว่านักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถนำความรู้ ความเข้าใจระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย และเป็นไปตามมาตรฐาน ไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้ อีกทั้งยังนำไปเผยแพร่สู่ชุมชน และเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer)

สำหรับกิจกรรมให้ความรู้แก่นักศึกษา ได้แก่ 1.กิจกรรมเปิดค่ายเกษตรกรไทยรุ่นใหม่ ใส่ใจมาตรฐาน โดยแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติเข้าฐานเรียนรู้วิชาการ 11 ฐาน 2.กิจกรรมประกวดการเขียนโครงการฟาร์มมาตรฐานสินค้าเกษตรแบ่งขอบข่ายของโครงการเป็น 4 ประเภท คือ พืชอาหาร ข้าว ปศุสัตว์ และประมง 3.กิจกรรมทัศนศึกษาฟาร์มมาตรฐานและสถานประกอบการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ 4.กิจกรรมส่งเสริมการนำมาตรฐานสินค้าเกษตรไปปฏิบัติใช้ในแปลงตามมาตรฐาน GAP ด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ 5.กิจกรรมประกวดฟาร์มมาตรฐานสินค้าเกษตร และ6.กิจกรรมมอบโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณ แก่ผู้ชนะการประกวดฟาร์มมาตรฐานสินค้าเกษตร

เขา  กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ผลการประกวดโครงการฟาร์มมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งแยกออกเป็น 4 ขอบข่าย ได้แก่ 1.ขอบข่ายพืช รางวัลชนะเลิศ คือ โครงการปลูกข้าวโพดหวานตามระบบ GAP จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ โครงการการผลิตผักสลัดแบบไฮโดรโพนิกส์ตามมาตรฐาน GAP จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี และโครงการปลูกสับปะรดผลสดพันธุ์เพชรบุรี 1 ตามมาตรฐาน GAP เพื่อจำหน่าย จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ โครงการถั่วฝักยาว ตามมาตรฐาน GAP จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา และโครงการปลูกผักบนวัสดุทางเลือกด้วยกระบวนการ GAP จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพัทลุง

2.ขอบข่ายข้าว รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ โครงการผลิตข้าวคุณภาพดีปลอดภัยด้วยกระบวนการ GAP จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพัทลุง 3.ขอบข่ายปศุสัตว์ รางวัลชนะเลิศ คือ โครงการการเลี้ยงไก่ไข่อารมย์ตามระบบ GAP จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ โครงการไก่เนื้ออารมณ์ดีตามมาตรฐาน GAP จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ โครงการเลี้ยงไก่เนื้อตามระบบ GAP จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี และ4.ขอบข่ายประมง รางวัลชนะเลิศ คือ โครงการเลี้ยงปลาตะเพียน และปลาบ้า ตามมาตรฐาน GAP จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ โครงการเลี้ยงปลาหมอชุมพร 3 ตามระบบ GAP จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร และโครงการเลี้ยงกบตามระบบ GAP จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ โครงการเลี้ยงปลาสลิดตามระบบ GAP จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฏร์ธานี

[adrotate banner=”3″]

“การจัดพิธีมอบโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ให้นักศึกษาที่จัดทำโครงการฯ เกิดความภาคภูมิใจในความสำเร็จของตนเอง เกิดแรงกระตุ้นให้นักศึกษาอื่นๆได้มีความมุ่งมั่น ใฝ่รู้ใฝ่เรียน มีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรกรรม เห็นแบบอย่างและประโยชน์ของการดำเนินงานของโครงการที่มีความใส่ใจและปฏิบัติตามมาตรฐานสินค้าเกษตร และอยากที่จะพัฒนาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ในอนาคตต่อไป”นายยุทธนา กล่าว