“เบทาโกร” ขยายการลงทุนต่อ ปี”61 ควักหมื่นล้าน ผุด “ฟาร์มคอมเพล็กซ์” 5 พันไร่ ที่ลพบุรี ขยายโรงงานแปรรูปปศุสัตว์ ลุยสร้างแบรนด์ “เอสเพียว” เจาะตลาดพรีเมี่ยม ดึงนวัตกรรมต่อยอด “อาหาร-วัตถุดิบอาหารสัตว์” พร้อมรับบทพี่ช่วยน้อง หนุน “เอสเอ็มอีภูธร” ตั้งเป้าดันยอดขายทะลุแสนล้านในปี 2563
นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร บมจ.เบทาโกร เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทยังคงขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อเนื่อง เพื่อผลักดันยอดขายให้ไปถึงเป้าหมายแสนล้านบาท ตามแผนลงทุน 10 ปี (2010-2020) โดยปีนี้เตรียมลงทุนเกือบ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นในประเทศ 6,000-7,000 ล้านบาท หลายโครงการทั้งฟาร์ม, โรงงานแปรรูปอาหาร โรงงานอาหารสัตว์ อีก 1,000-2,000 ล้านบาท เป็นการขยายการลงทุนในประเทศอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา, ลาว และเมียนมา เช่น ขยายโรงอาหารสัตว์ในกัมพูชา และ สปป.ลาวเป็นต้น
“ปีนี้เราขยายการลงทุนในธุรกิจฟาร์มครบวงจร หรือฟาร์มคอมเพล็กซ์ พื้นที่ 5,000 กว่าไร่ ที่ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ทำให้มีปริมาณพ่อแม่พันธุ์สัตว์เพิ่มขึ้น ทั้งเน้นเรื่องการแปรรูปปศุสัตว์มากขึ้นทั้งโรงแปรรูปสุกร โรงแปรรูปไก่ และโรงคัดไข่ มีแผนว่าจะมีให้ครบทุกภูมิภาค โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ภาคเหนืออยู่ที่ลำพูน ภาคใต้ที่พัทลุง”
นอกจากนี้ บริษัทยังขยายโรงงานแปรรูปไก่ที่ภาคใต้ กำลังการผลิต 60,000 ตัว/วัน และโรงงานแปรรูปอาหารที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร พื้นที่ 50 กว่าไร่ ภายใต้โครงการ CK ผลิตอาหารพร้อมรับประทานป้อนตลาดกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงร่วมทุนกลุ่มมิตซูบิชิคอร์ป ตั้งโรงงานผลิตไก่แปรรูปในนิคมอุตสาหกรรมหนองแค สระบุรี เพื่อส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นในปลายปีนี้
ปัจจุบัน เบทาโกรเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจหมูขุน ล่าสุดขยายไปที่ลพบุรี ในชื่อโรงงานเบทาโกร เซฟตี้มีท ทำให้ปริมาณการเชือดในพื้นที่โรงงานที่ลพบุรีเพิ่มเป็น 3,700 ตัว/วัน ส่งผลให้ปริมาณการเชือดรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 6,000 ตัว/วัน ใหญ่ที่สุดในขณะนี้ ส่วนธุรกิจไก่ โดยรวมผลิตลูกไก่ 4 ล้านตัว/สัปดาห์ มีกำลังการเชือดอยู่ที่ 5 แสนตัว/วัน และมีธุรกิจเลี้ยงสัตว์มีชีวิต 1 ล้านตัวทั้งประเทศ การผลิตไข่ไก่ทำได้ 4 ล้านฟอง/วัน
ส่วนธุรกิจอาหารสำเร็จรูปเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะไส้กรอก มีแคมเปญการตลาดดึง “โป๊ป ธนวรรธน์”นักแสดงจากละครดังบุพเพสันนิวาส เป็นพรีเซ็นเตอร์ ทำให้ภาพลักษณ์โดยรวมของธุรกิจอาหารพร้อมรับประทานดีขึ้น ส่งผลยอดขายเพิ่มขึ้น 18-19% เทียบเดือนต่อเดือน
บริษัทยังเดินหน้าสร้างแบรนด์ต่อเนื่องทั้ง 2 แบรนด์ ได้แก่ แบรนด์เอสเพียว เป็นผลิตภัณฑ์ซูเปอร์พรีเมี่ยม เร็ว ๆ นี้จะออกแคมเปญใหม่โปรโมตแบรนด์ เพราะเป็นรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองว่า ผลิตภัณฑ์หมู ไก่ ไข่ ภายใต้แบรนด์ดังกล่าว ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงจากองค์กรส่งเสริมอนามัยแห่งชาติระหว่างประเทศ NSF จึงเป็นจุดขายที่ดี และการันตีเรื่องคุณภาพในสัตว์มีชีวิตว่าการเลี้ยงมีคุณภาพสูงสุด ส่วนแบรนด์เบทาโกรจะเจาะตลาดระดับกลาง
ต่อยอดนวัตกรรม
นายวสิษฐกล่าวต่อว่า ธุรกิจอาหารในอนาคตจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น และต้องนำเทคโนโลยี เช่น IoT มาใช้ในการผลิตปศุสัตว์ ตั้งแต่สูตรอาหารสัตว์, วัตถุดิบทดแทน, การบริหารต้นทุน ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งบริษัทมีศูนย์วิจัยและพัฒนาของตนเองตั้งแต่ 14 ปีที่แล้ว โดยใช้เครือข่ายต่างประเทศมาสำรวจร่วมกัน มีโปรเจ็กต์เกิดขึ้น 200-300 โครงการ และได้นำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์แล้ว เช่น การสกัดสารโปรตีนจาก “รกสุกร” (พาเซนต้า) สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น รวมถึงสกัดสารไฮยาลูรอนจากหงอนไก่ เป็นต้น
ล่าสุดร่วมกับสถาบันการศึกษา ทำการศึกษาโปรเจ็กต์ “แบล็กโซเจอร์ไฟล์” เมื่อ 1-2 ปีก่อน เพื่อนำแมลงวันสายพันธุ์หนึ่งมาช่วยในกระบวนการกำจัดปฏิกูลออร์แกนิก เช่น เศษไขมัน, ซากสัตว์ตาย, ขยะ ที่เกิดจากการผลิตซึ่งมีปริมาณเยอะมาก และต้องใช้งบประมาณในการกำจัดปีละหลายร้อยล้านบาท
ทั้งนี้นวัตกรรมนี้ได้เคยมีการทดลองมาแล้วในต่างประเทศ ผลศึกษาพบว่าแมลงดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์อาหาร อีกทั้งเมื่อกำจัดปฏิกูลแล้วจะสามารถสกัดโปรตีนจากแมลงมาใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทดแทนวัตถุดิบในการนำเข้าได้ด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมขอขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์
ผนึกเอสเอ็มอีภูธร
นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ผลิตอาหารอยู่แล้ว โดยส่งทีมงานเป็นที่ปรึกษาในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านโลจิสติกส์เช่น แดงแหนมเนือง และวีทีแหนมเนือง เป็นต้น เพื่อช่วยให้ทำการตลาดได้ดีขึ้น
“บริษัทเข้าไปส่งเสริมตั้งแต่ต้นทางเพราะต้องการให้เขาโต เมื่อเขาโต เราก็โตไปกับเขา มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรอรับการส่งเสริมในลักษณะนี้จำนวนมากเราต้องการทำตัวอย่างสัก 20-30 ราย และที่กำลังจะเข้าไปช่วยส่งเสริม คือ หมูทอดเจ๊จง ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวที่ได้รับความนิยมมาก เป้าหมายเรา คือ ทำให้เขาเป็นในสิ่งที่เขาอยากทำ”
ปศุสัตว์ดิ่ง-ต้นทุนพุ่ง
นายวสิษฐกล่าวถึงความท้าทายของธุรกิจปศุสัตว์ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ยากลำบาก เนื่องจากสภาวะของปศุสัตว์รวมปริมาณเพิ่มขึ้น จนขาดความสมดุลระหว่างดีมานด์และซัพพลาย ทั้งปริมาณไก่ไข่, ไก่เนื้อ และหมู ส่งผลให้ราคาตกต่ำ โดยเฉพาะราคาหมูตกต่ำลงไปในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาสูงขึ้น โดยปัจจุบันระดับราคาข้าวโพดไทย กก.ละ 10.30-10.40 บาท ขณะที่เวียดนาม กก.ละ 6.60-6.70 บาท และ มีปริมาณไม่เพียงพอ ทั้งยังถูกจำกัดด้วยมาตรการของรัฐในการกำหนดสัดส่วนการซื้อวัตถุดิบในประเทศ เพื่อแลกสิทธิ์นำเข้าข้าวสาลี แต่ไทยจำเป็นต้องใช้ข้าวโพดในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์สูงขึ้นตามปริมาณการส่งออกเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น โดยความต้องการใช้ข้าวโพด 10 ล้านตัน แต่ผลิตได้ 4 ล้านตัน และมีมาตรการซื้อข้าวโพด 2 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ทำให้สามารถซื้อวัตถุดิบนำเข้าได้เพียง 2 ล้านตัน เมื่อรวมกับข้าวโพดที่มีแล้วเท่ากับมีวัตถุดิบปริมาณ 6 ล้านตัน จึงไม่เพียงพอ การแก้ไขที่ผ่านมาก็ยังไม่มีประสิทธิผลเต็มที่และการมาควบคุมค่าครองชีพเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคก็สวนทางกัน
ที่มา : ประชาชาติธุัรกิจ : อ่านเพิ่มเติม : https://www.prachachat.net/economy/news-186923