เปืดรับสมัครผู้ประกอบการ “ผลิต-ใช้พลังงาน”เริ่ม 15 มี.ค.นี้

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   เปิดรับสมัครกลุ่มวิสาหกิจชุมชุม สหกรณ์ หรือ SME ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงาน เข้าร่วม “โครงการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนในภาคความร้อน” เริ่มเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 15 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2561  เน้น 2 กลุ่ม “ กลุ่มผู้ผลิตเชื้อเพลิงพลังงานทดแทน-กลุ่มผู้ใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน”

          วันที่ 6 มีนาคม 2561 ได้มีการเปิดตัวโครงการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนในภาคความร้อน และประกาศประชาสัมพันธ์การรับสมัครกลุ่มผู้ผลิตเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนและกลุ่มผู้ใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทนเข้าร่วมโครงการ โดยมี นายเจตรายุภนท์ ธรรมรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มชีวมวล      กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เป็นประธานเปิดโครงการ พร้อมด้วย ดร.มะลิวัลย์ หฤทัย ธนาสันติ์ เป็นหัวหน้าโครงการ และกลุ่มผู้ผลิตผู้ใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทนเข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมธีระ สูตะบุตร ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

          นายเจตรายุภนท์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการนำร่อง เพื่อให้การสนับสนุน วิสาหกิจพลังงานทดแทนชุมชน สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ที่มีความต้องการใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน แทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้มีโอกาสเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงระบบ เพื่อรองรับต่อการใช้พลังงานทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579 หรือ แผน AEDP 2015  ได้กำหนดเป้าหมายให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี 2579 ในรูปพลังงานความร้อน จำนวน 25,088.00 ktoe และเชื้อเพลิงชีวภาพ จำนวน 8,712.43 ktoe

          ขณะที่ปัจจุบันมีการผลิตพลังงานความร้อนจากพลังงานทดแทนเพียง 6,000 ktoe เท่านั้น และหนึ่งในพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพมากที่สุดที่สามารถจะส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมหรือชุมชนใช้ในปริมาณมากเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่ พลังงานชีวมวล เช่น ไม้โตเร็ว มีเป้าหมายการผลิตจำนวน 22,100 ktoe ในปี 2579 ซึ่งมากกว่าร้อยละ 88ของเป้าหมายการผลิตพลังงานความร้อนจากพลังงานทดแทนทั้งหมด

          ด้านดร.มะลิวัลย์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของโครงการนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ที่มีความพร้อมและมีความต้องการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล ให้สามารถผลิตเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพป้อนภาคอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน และเพื่อให้การสนับสนุนวิสาหกิจ สหกรณ์ และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดเล็ก (SME) ที่มีความต้องการใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทนพลังงานจากฟอสซิลได้มีโอกาสเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงระบบ เพื่อรองรับต่อการใช้พลังงานทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะทำหน้าที่เป็นทีมที่ปรึกษา กำหนดเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 15 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2561  แบ่งการรับสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

        1.กลุ่มผู้ผลิตเชื้อเพลิงพลังงานทดแทน มีคุณสมบัติดังนี้ คือต้อง เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์, ที่ตั้งโรงผลิตเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนต้องห่างจากชุมชน ไม่น้อยกว่า 500 เมตร, พื้นที่ตั้งของโครงการต้องมีพื้นที่ใช้สอยเพื่อการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนไม่น้อยกว่า 2.5 ไร่, มีพื้นที่ส่งเสริมปลูกไม้โตเร็วของกลุ่ม ไม่น้อยกว่า 1,000 ไร่ต่อปี, และมีเอกสารประกอบที่สามารถขออนุญาตจัดตั้งผลิตพลังงานเชื้อเพลิงได้ ซึ่งกลุ่มผู้ผลิตเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนจะได้รับเงินสนับสนุนในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 80 ของเงินลงทุนแต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อโครงการ พร้อมทั้งที่ปรึกษาสำหรับการดำเนินงานตลอดระยะเวลาโครงการ

         2.กลุ่มผู้ใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน มีคุณสมบัติ ดังนี้ คือ เป็นวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดเล็ก (SME), ต้องมีแหล่งผลิตพลังงานความร้อนที่ให้แหล่งพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งกลุ่มผู้ใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทนจะได้รับเงินสนับสนุนในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 40 ของเงินลงทุนแต่ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อโครงการ พร้อมทั้งที่ปรึกษาสำหรับการดำเนินงานตลอดระยะเวลาโครงการ

[adrotate banner=”3″] 

            ผู้สนใจ ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 02-942-8700 ,085-1669494 และ www.kapi.ku.ac.th หรือ www.kubiomass.kapi.ku.ac.th หรือ www.dede.go.th