“ซันสวีท” ผู้ส่งออกข้าวโพดหวานเบอร์ 1 ของประเทศ รุกหนักตลาดข้าวโพดหวานปี”61 ตั้งเป้ายอดขายเติบโต 10% เร่งยกระดับการผลิตระบบคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนสู่ “สมาร์ทฟาร์ม” บุกตลาด 70 ประเทศ พร้อมโชว์ศักยภาพจัดงานวันข้าวโพดหวานครั้งที่ 5 ที่เชียงใหม่
นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและส่งออกข้าวโพดหวานรายใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ “KC” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2561 บมจ.ซันสวีทยังคงเดินหน้ารุกตลาดข้าวโพดหวานอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ตั้งเป้ายอดขายเติบโตที่ 10% จากยอดขายรวมในปี 2560 อยู่ที่กว่า 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกสัดส่วน 80% และขายในประเทศราว 20%
นายองอาจกล่าวว่า แผนงานสำคัญประการหนึ่งของ บมจ.ซันสวีท ในปีนี้จะมุ่งยกระดับการผลิตระบบแปลงเพาะปลูกข้าวโพดหวานแบบแม่นยำในรูปแบบฟาร์มอัจฉริยะ หรือ Smart Farm ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดภาคเหนือตอนบน ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการกว่า 20,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ปลูกทั้งหมด 50,000-100,000 ไร่ ซึ่งทางบริษัทเริ่มทำโครงการ Smart Farm มาตั้งแต่ปี 2555 กระบวนการจะเริ่มจากการนำดินในพื้นที่เกษตรกรปลูกข้าวโพดหวานมาวิเคราะห์ธาตุอาหารหลักในดิน (N-P-K) การปลูกจะใช้วิธีการย้ายกล้าเพื่อให้ได้จำนวนต้นต่อไร่มากขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด การวางระบบน้ำหยดในแปลงปลูกข้าวโพดหวานเพื่อให้ต้นข้าวโพดหวานได้รับความชื้นที่เหมาะสม และสามารถให้ปุ๋ยทางระบบน้ำหยด ซึ่งประหยัดต้นทุนและเป็นการใส่ปุ๋ยที่มีคุณภาพได้ ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 2,800-3,500 กิโลกรัมต่อไร่
ขณะที่ระบบการชลประทานเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเพาะปลูกพื้นที่แปลงขนาดใหญ่ ซึ่งปริมาณของผลผลิตมีความสัมพันธ์กับระดับความชื้นในดินโดยตรง ดังนั้น ระบบควบคุมการให้น้ำแบบอัตโนมัติที่มีความเที่ยงตรงและแม่นยำ ทำให้ได้ผลผลิตและคุณภาพที่สูงขึ้น ซึ่งบริษัทได้มีการประยุกต์ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หาได้ในประเทศนำมาพัฒนาเป็นชุดอุปกรณ์ตรวจวัดค่าความชื้นในดิน และมีระบบเปิด-ปิดจ่ายน้ำในพื้นที่นั้น ๆ อย่างแม่นยำ
นายองอาจกล่าวต่อว่า ในปีนี้ (2561) บมจ.ซันสวีทได้จัดงานวันข้าวโพดหวาน ครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นการจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์เรียนรู้ KC Farm บนพื้นที่ 25 ไร่ ตำบลทุ่งปี้ อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับปีนี้ต้องการแสดงให้เห็นถึงโอกาสการพัฒนาการปลูกข้าวโพดหวานเป็นพืชเศรษฐกิจสู่ตลาดโลก ซึ่งภายในงานมีการแสดงพื้นเมืองโดยนักศึกษาวิชาข้าวโพดหวาน กศน.แม่วาง นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเกษตร เช่น การใช้โดรนให้สารเคมีทางอากาศกับข้าวโพดหวาน และถ่ายภาพทางภูมิศาสตร์ในฟาร์มข้าวโพดหวาน เป็นต้น โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ภาคเหนือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 600 คน โดยตั้งเป้าจัดงานนี้เป็นประจำทุกปี เพื่อให้เป็นเวทีแห่งการเรียนรู้และศึกษาการพัฒนาการผลิตข้าวโพดหวานให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนต่อไป