เตรียม 7 หมื่นล้าน อุ้มเอสเอ็มอีทุกระดับ

  •  
  •  
  •  
  •  

ผลสำรวจดัชนี SMEs ของมหาวิทยาลับหอการค้าไทย พบลูกค้าของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฯ  มีความมั่นใจในธุรกิจมากกว่าผู้ประกอบการ ทั่วไป ขณะที่เอสเอ็มอีแบงก์ เตรียมมาตรการสินเชื่อรวม 7 หมื่นล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ทุกระดับ รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ใน 3 กิจการ “ฟื้นฟูและเสริมศักยภาพ สำหรับ SMEs คนตัวเล็ก อัตราดอกเบี้ยเพียง 1%  – โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน – สินเชื่อ Factoring สำหรับธุรกิจ SMEs ขนาดย่อม-กลาง

             นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ (SME Development Bank หรือ ธพว.) กล่าวถึงความร่วมมือกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้ทำการสำรวจดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SMEs และดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs ประจำไตรมาสที่ 4/2560 จากผู้ประกอบการ SMEs รวม 1,202 ตัวอย่างทั่วประเทศ โดยสำรวจจากธุรกิจ SMEs ที่มีขนาดเล็ก (small) สัดส่วน 77.0% และธุรกิจขนาดกลาง (middle) 23.0% โดยทำการสำรวจจากธุรกิจการค้า 39.9% ธุรกิจการบริการ 34.9% และธุรกิจการผลิต 25.2%  

            ทั้งนี้ การสำรวจจำแนกตามลักษณะการเป็นลูกค้าของ SME Development Bank คู่กับ SMEs ทั่วไป พบว่าผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของ SME Development Bank ต่างมั่นใจในธุรกิจมากกว่าผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป สะท้อนจากผลสำรวจดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SMEs ไตรมาสที่ 4/2560 ที่ปรับตัวดีขึ้นถึง 1.2 จุด มาอยู่ที่ระดับ 42.3 แม้ดัชนีฯ จะอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ก็ตาม แต่เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 3/2560 ที่ระดับ 41.1 มาแล้ว ขณะที่แนวโน้มดัชนีสถานการณ์ธุรกิจในอนาคต (ไตรมาสที่ 1/2561) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่มาแตะระดับ 42.8 ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

            ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ ไตรมาสที่ 4/2560 สำรวจโดยจำแนกตามลักษณะการเป็นลูกค้า ผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของ SME Development Bank เชื่อมั่นในการทำธุรกิจสูงกว่าผู้ประกอบการ SMEsทั่วไป  โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งทุน ความสัมพันธ์ต่อลูกค้า และการบริหารต้นทุน-การตั้งราคา เป็นต้น อย่างไรก็ดี ภาพรวมยังพบว่าดัชนีความ สามารถในการทำธุรกิจ อยู่ที่ระดับ 50.2 แม้จะปรับตัวลดลง 0.1 จุด แต่เป็นการปรับลดลงเพียงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาส 3/2560) ซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.3 สำหรับทิศทางในอนาคต (ไตรมาสที่ 1/2561) ดัชนีคาดจะขยับเพิ่มขึ้นถึง 0.2 จุด ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.4

            ดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ ไตรมาสที่ 4/2560 สำรวจโดยจำแนกตามลักษณะการเป็นลูกค้า ผลสำรวจพบว่า ดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 51.2 ปรับตัวลดลง 0.5 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แม้จะปรับตัวลดลงแต่มีทิศทางดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 52.3 ในไตรมาสที่ 1/2561 ถือเป็นระดับที่น่าพอใจ และดัชนีความสามารถในการแข่งขันฯ ไตรมาสที่ 4/2560 อยู่ที่ระดับ 47.9 เพิ่มขึ้น 0.2 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาสที่ 3/2560)

           นายมงคล กล่าวว่า ผลสำรวจดัชนีครั้งนี้ ทำให้ธนาคารทราบถึงข้อมูลเชิงลึก โดยจะนำผลสำรวจดังกล่าวไปปรับใช้เป็นแนวทางการช่วยเหลือ SMEs ให้ตรงจุดต่อไป ส่วนหนึ่งเพื่ออุดรูรั่วหรือความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ผลักดันผู้ประกอบการ SMEs ให้มีศักยภาพเข้มแข็ง พัฒนาจากธุรกิจขนาดย่อมสู่ธุรกิจขนาดกลาง อีกทั้ง จะมีการประเมินความเสี่ยงที่จะมีผลต่อธุรกิจเพื่อส่งต่อความช่วยเหลือได้ทันท่วงที และในส่วนของธนาคารเอง ขณะนี้ได้ยึดนโยบายการทำงานลงพื้นที่เชิงลึกฉับไวเข้าถึงพื้นที่ มุ่งยกระดับSMEs โดยเฉพาะผู้ประกอบการระดับชุมชนหรือเรียกว่า“จุลเอสเอ็มอี” ให้แข็งแกร่ง รวมถึง นำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อ และการพิจารณาสินเชื่อให้ตรงความต้องการของ SMEs เฉพาะเจาะจงกลุ่มธุรกิจ หรือเปรียบเทียบ คือ ตัดเสื้อเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะช่วยให้มาตรการช่วยเหลือต่างๆ ตรงความต้องการของผู้ประกอบการตามประเภทธุรกิจ ไม่ใช่เสื้อ 1 ขนาด แล้วใช้กับ SMEs ทุกราย ซึ่งยากจะช่วยเหลือได้ครอบคลุมทุกกลุ่ม

          นอกจากนี้ ธนาคารเตรียมมาตรการสินเชื่อรวม 70,000 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ทุกระดับตั้งแต่รายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง  ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง รวมถึงเริ่มต้นธุรกิจใหม่หรือเปลี่ยนแปลงธุรกิจ  ได้แก่ 1) โครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับ SMEs คนตัวเล็ก วงเงิน 8,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 1%  ภายใต้ข้อกำหนดต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล

[adrotate banner=”3″]

           2) โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) สำหรับธุรกิจชุมชน รายย่อย วงเงิน 50,000 ล้านบาท เน้นช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว ท่องเที่ยวชุมชน และเกษตรแปรรูป วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท  3 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ฟรีค่าธรรมเนียมบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 4 ปีแรก หากกู้ 1 แสนบาท ผ่อนชำระวันละ 50 บาทเท่านั้น   และ 3) สินเชื่อ Factoring สำหรับธุรกิจ SMEs ขนาดย่อม-กลาง วงเงิน 12,000 ล้านบาท กู้ต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท โดยมีโปรโมชั่น  7:1:0   โดย 7 ตัวแรกคือ พร้อมอนุมัติสินเชื่อภายใน 7 วัน , 1 คือ เบิกจ่ายภายใน 1 วัน และ 0 คือ ฟรีค่าธรรมเนียมเรียกเก็บหนี้ โดยมาตรการสินเชื่อดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจสินเชื่อตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ที่เห็นชอบอนุมัติวงเงิน 245,000 ล้านบาท ให้สถาบันการเงินรัฐนำไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2561

           ด้าน ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัยและผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า สิ่งที่ธุรกิจ SMEs ต้องการนอกเหนือจากการสนับสนุนองค์ความรู้จากหน่วยงานภาครัฐแล้ว เรื่องเงินทุน หรือสินเชื่อยังจำเป็นด้วยเช่นกัน สะท้อนจากดัชนีที่สำรวจในธุรกิจ SMEs ส่วนหนึ่งที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการสินเชื่อต่างๆ ซึ่ง SME Development Bank มีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะรายเล็กเข้าถึงแหล่งทุน และต้องทำอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกกลุ่ม  

         สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : นางอุบลรัตน์ ค่าแพง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการตลาด ลูกค้าสัมพันธ์ และกิจกรรมเพื่อสังคม  โทร. 085-980-7861, 02-265-440

ที่มาข้อมูล :  ข่าวทำเนียบรัฐบาล