ชู “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจันทราบุรีฯ” ต้นแบบแห่งความสำเร็จ ต่อยอด “สาหร่ายทะเล” สู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมประมง นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG ยกระดับการเพาะเลี้ยงและแปรรูป “สาหร่ายทะเล” อาหารแห่งอนาคต ชู “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจันทราบุรี @ปากน้ำแหลมสิงห์” จังหวัดจันทบุรี ที่ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายผักกาดทะเล และสาหร่ายพวงองุ่น สามารถนำไปแปรรูปอย่างหลากหลายกว่า 10 ผลิตภัณฑ์

นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้สนับสนุนให้เร่งส่งเสริมการผลิตและแปรรูปสาหร่ายทะเล ซึ่งเป็นอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ที่มีกระแสความนิยมบริโภคอย่างต่อเนื่องและผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากสามารถใช้ประโยชน์ได้ตลอดห่วงโซ่มูลค่าได้อย่างหลากหลาย เช่น การผลิตอาหาร เครื่องสำอาง ยา อาหารสัตว์ และปุ๋ย เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันการเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี 2567 ที่ผ่านมา มีปริมาณผลผลิตถึง 1,031.31 ตัน มูลค่ากว่า 43,335,000 บาท

กรมประมง จึงได้ร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐเอกชน ส่งเสริมการศึกษา วิจัย เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ในการเพาะเลี้ยงและแปรรูปผลิตภัณฑ์สาหร่ายทะเลชนิดต่าง ๆ เช่น สาหร่ายผักกาด สาหร่ายพวงองุ่น ฯลฯ ในหลายพื้นที่ ภายใต้การดำเนินงานของกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง และ กองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง ซึ่งกำกับดูแลกิจกรรมนี้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ ได้แก่

โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างแบบผสมผสานตามพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จังหวัดเพชรบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา กระบี่ ภูเก็ต เป็นต้น โดยได้มีการสนับสนุนและพัฒนาองค์ความรู้ เทคนิค นวัตกรรม ทั้งการเพาะเลี้ยง การเก็บเกี่ยว การแปรรูปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ รวมถึงการตลาด และการเพิ่มมูลค่าอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปัจจุบันสามารถขยายผลส่งเสริมการผลิตและแปรรูปอย่างครบวงจรไปยังกลุ่มเกษตรกรจนประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่

ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจันทราบุรี @ปากน้ำแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ที่มีคุณสุภิดา ลิ้นทอง เป็นประธานกลุ่ม ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายและแปรรูปสาหร่ายผักกาดทะเล และสาหร่ายพวงองุ่น ซึ่งคุณสุภิดา เล่าว่า ทางกลุ่มฯ ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงและการแปรรูปสาหร่ายทะเล มาจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี จึงได้นำความรู้ไปต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยศึกษาจากกระแสความต้องการของตลาดผู้บริโภค ซึ่งสามารถผลิตทั้งด้านอาหารและเครื่องสำอางได้มากกว่า 10 ผลิตภัณฑ์ เช่น สาหร่ายทะเลตากแห้ง บะหมี่สาหร่ายผักกาดทะเล บะหมี่สาหร่ายผักกาดทะเลพร้อมผงปรุง 6 รสชาติ ผักม้วนสาหร่ายผักกาดทะเล พาสต้าสาหร่ายผักกาดทะเล เซรั่มบำรุงผิวหน้าผสมสารสกัดจากสาหร่ายผักกาดทะเล แชมพู ครีมนวดผม เจลอาบน้ำ โลชั่นบำรุงผิวกายผสมสารสกัดจากสาหร่ายผักกาดทะเล เป็นต้น

นอกจากนี้ได้รับการผลักดันจากกรมประมง รวมทั้งสำนักงาน กปร. ทำให้ได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารและยา (อย.) ทุกผลิตภัณฑ์เป็นแห่งแรก โดยวางจำหน่ายที่ร้านสิริพัฒนภัณฑ์ ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ และร้าน Fisherman shop @Bangkhen และยังอยู่ระหว่างการดำเนินการจดสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ ปัจจุบันสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนมูลค่ากว่าหลายล้านบาทต่อปี สร้างความมั่นคงทางอาชีพให้กับชุมชนอย่างอย่างยั่งยืน และยังมีแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออกต่างประเทศในอนาคตอีกด้วย

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า จากความสำเร็จดังกล่าว กรมประมงจึงได้สนับสนุนให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจันทราบุรี @ปากน้ำแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เป็นต้นแบบการผลิตและแปรรูปสาหร่ายทะเลที่มีศักยภาพของประเทศเพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ นอกจากนี้ ยังได้จัดอบรมเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้เข้าสู่มาตรฐานเพาะเลี้ยงสาหร่าย และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ พร้อมส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน หนุนการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืน อีกทั้งจะผลักดันการพัฒนาศักยภาพในการผลิตสินค้าประมงชนิดอื่น ๆ ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยใช้ “สาหร่ายทะเล” เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนต่อไป