โดย…สมพร อิศวิลานนท์
ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตไก่เนื้อมาเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน และส่งออกเป็นอันดับต้นๆของโลก เพราะว่าไทยนั้นมีความผูกพันกับการเลี้ยงไก่มายายนาน จึงมีการพัฒนาการด้านสายพันธุ์มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะไก่พื้นเมืองในภูมิภาคอาเซียนและของไทย
การเลี้ยงไก่ของภูมิภาคนี้แบ่งได้เป็นการเลี้ยงไก่เนื้อและการเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งใช้เป็นแหล่งอาหารของครัวเรือนและนำผลผลิตออกขายเมื่อมีมากพอ เพื่อเป็นแหล่งรายได้เสริมให้กับครัวเรือน ด้านการวิวัฒนาการของไก่พื้นเมืองของอาเซียนและของไทยมีมาอย่างยาวนาน จากสัตว์ป่าได้กลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงทั้งเพื่อการใช้เนื้อและไข่เป็นอาหาร หรือในบางกรณีใช้เป็นประเพณีและเกมกีฬาพื้นบ้านในชนบทของไทย เมียนมา และฟิลิปปินส์ เช่นการชนไก่ เป็นต้น
ไก่พันธุ์พื้นเมืองของภูมิภาคจึงมีมากมายหลากหลายสายพันธุ์ แต่ละพันธุ์จะมีจุดเด่นเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัว เช่นความต้านทานโรค การเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ ภายใต้สภาพแวดล้อมและอาหารที่มีอยู่ในท้องถิ่น
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติรายงานว่า ในปี 2556 อาเซียนมีจำนวนไก่มีชีวิตประมาณ 3 พันล้านตัว ในจำนวนนี้ร้อยละ 59 อยู่ในอินโดนิเซีย รองลงมาได้แก่มาเลเชีย ไทย และเวียดนาม ไก่มีชีวิตดังกล่าวนี้ส่วนมากแล้วเป็นการเลี้ยงของเกษตรกรรายย่อยทั้งที่เป็นอาหารและรายได้เสริมของครัวเรือน ส่วนการเลี้ยงเชิงธุรกิจฟาร์มจะพบในกลุ่มของเกษตรกรรายกลางและธุรกิจฟาร์มขนาดใหญ่
การที่อินโดนิเซียมีไก่มีชีวิตมากไม่ได้หมายความว่าอินโดนิเซียจะเป็นผู้ผลิตไก่เนื้อเพื่อการส่งออกรายใหญ่ของอาเซียน ทั้งนี้เพราะการมีประชากรจำนวนมากถึงเกือบ 250 ล้านคน อีกทั้งระบบการเลี้ยงไก่เนื้อในอินโดนิเซียยังเป็นการเลี้ยงโดยเกษตรกรรายย่อยที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการผลิตในระบบฟาร์ม
การผลิตไก่เนื้อของอินโดนิเซียจึงเป็นการผลิตเพื่อป้อนตลาดผู้บริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งรวมถึงการผลิตไก่เนื้อในฟิลิปปินส์ เมียนมา และเวียดนาม ส่วนในประเทศมาเลเชียนั้นมีการทำฟาร์มไก่เนื้อและไก่ไข่ที่ได้มาตรฐานฟาร์ม แต่มาเลเชียให้ความสำคัญกับการเลี้ยงไก่ไข่และเป็นผู้ส่งออกไข่ไก่ที่สำคัญของอาเซียน
สำหรับการเลี้ยงไก่ของไทยนั้นพบว่าในยุคก่อนทศวรรษ 2510 เป็นการเลี้ยงไก่พื้นเมืองปล่อยให้หากินรอบบริเวณบ้าน ทั้งเพื่อใช้เนื้อและเพื่อใช้ไข่สำหรับการบริโภคเป็นอาหารของครัวเรือน ส่วนการทำฟาร์มเลี้ยงไก่โดยอาศัยเทคโนโลยีของชาวตะวันตกมาใช้ในการเพาะเลี้ยงไก่นั้น ท่าน ม.จ.สิทธิพร กฤษดากร ได้เป็นผู้เริ่มต้นโดยสั่งไก่ไข่พันธุ์โรดไอส์แลนด์เรดจากสหรัฐอเมริกามาทดลองเลี้ยงที่ฟาร์มบางเบิด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 2460
อย่างไรก็ตามในยุคเริ่มต้นการเลี้ยงไก่ในระบบฟาร์มนั้นไม่ประสบความสำเร็จ เพราะวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรคสัตว์ปีก เช่น โรคอหิวาห์สัตว์ปีก โรคหวัดสัตว์ โรคนิวคาสเซิล เป็นต้น ต้องนำเข้าและมีราคาแพง ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตขึ้นใช้เองได้ การทำฟาร์มไก่ไข่จึงหยุดชะงักไม่ได้รับความสนใจที่จะพัฒนาขึ้นในประเทศไทย
ต่อมาจนถึงปลายทศวรรษ 2480 เป็นต้นมา การทดลองทำฟาร์มไก่จึงได้เกิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งโดยการริเริ่มของท่านหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะในยุคนั้นได้นำเสนอแนวคิดการเลี้ยงฟาร์มไก่ไข่ให้กับรัฐบาล จึงได้มีการเริ่มต้นการส่งเสริมการทำฟาร์มไก่ไข่เกิดขึ้น โดยมีพันธุ์ไก่ไข่ที่ทดลองนำมาเลี้ยง เช่น พันธุ์โรดไอส์แลนด์เรด พันธุ์เล็กฮอร์นขาว พันธุ์บาร์พลีมัทรอค เป็นต้น ซึ่งพันธุ์เหล่านี้ต่อมาได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นลูกผสมเพื่อให้เข้ากับภูมิอากาศและระบบนิเวศของประเทศไทย
นอกจากการเลี้ยงไก่ไข่แล้วได้มีการส่งเสริมการเลี้ยงไก่เนื้อตามมาด้วย ในช่วงเวลาดังกล่าว พันธุ์ไก่เนื้อที่นำเข้ามาในยุคแรกๆ ได้แก่ พันธุ์อาร์เบอร์เอเคอร์ พันธุ์รอส พันธุ์คอบบ์ เป็นต้น ซึ่งสายพันธุ์แท้ดังกล่าวต่อมาได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นลูกผสมเพื่อให้เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงของเกษตรกรและการทำธุรกิจฟาร์ม
การเลี้ยงไก่เนื้อของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบการเลี้ยงไก่เนื้อแบบธุรกิจฟาร์มนับจากช่วงทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา ทั้งนี้เพราะในช่วงนี้ได้มีการจัดตั้งบริษัทธุรกิจการเกษตร มีการนำระบบการเลี้ยงแบบลูกเล้าและระบบประกันราคา ระบบรับจ้างฝากเลี้ยง เป็นต้น รวมถึงการขยายตัวตามแนวตั้งของบริษัทธุรกิจการเกษตรสู่การผลิตอาหารสัตว์ การผลิตพันธุ์ไก่ การผูกโยงการผลิตเข้ากับการตลาดทั้งภายในประเทศและการส่งออก
สิ่งเหล่านี้ ทำให้การเลี้ยงไก่เนื้อในระบบฟาร์มได้ก้าวขึ้นสู่อุตสาหกรรม เกษตรกรปรับตัวสู่การเลี้ยงเชิงพาณิชย์มากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตไก่เนื้อของไทยพัฒนาก้าวสู่การผลิตที่เป็นมาตรฐานทั้งด้านการผลิตของฟาร์มและมาตรฐานด้านความปลอดภัยของอาหาร ทั้งนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อต้องขึ้นทะเบียนการเลี้ยงไก่เนื้อกับกรมปศุสัตว์และมีการตรวจสอบฟาร์มเพื่อให้ได้ระบบการจัดการฟาร์มที่ดี
ทั้งนี้พบว่าประเทศไทยมีปริมาณการส่งออกเนื้อไก่จำนวน 172 ตันในปี 2513 และได้ขยายตัวเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 4 ทศวรรษต่อมา กล่าวคือในปี 2546 ปริมาณการส่งออกได้เพิ่มขึ้นเป็น 0.50 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 40,471 ล้านบาท ก่อนที่จะประสบปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกในปี 2547-2548 ส่งผลให้การส่งออกลดลงถึงร้อยละ 50 ทำให้ผู้ประกอบการเลี้ยงไก่เนื้อบางส่วนขาดทุนและต้องเลิกกิจการไป
ส่วนเกษตรกรรายกลางและรายใหญ่ที่เหลืออยู่ได้ปรับระบบการเลี้ยงไปสู่การเลี้ยงไก่ระบบปิดหรือในคอมพาร์ทเม้นต์ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถป้องกันการะบาดของเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกได้อย่างดี
[adrotate banner=”3″]
ในช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงระบบการการเลี้ยงไก่เนื้อของผู้ประกอบการรายกลางและรายใหญ่ของไทยได้รับความเชื่อมั่นและเชื่อถือจากประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคด้านมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารในระดับสูง โดยประเทศดังกล่าวได้ผ่อนคลายข้อห้ามการนำเข้าเนื้อไก่จากไทย ทำให้การส่งออกเนื้อไก่ของไทยได้กลับฟื้นตัว ก้าวสู่การเป็นคู่แข่งขันที่สำคัญกับบราซิล ซึ่งผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกได้อีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ พบว่าในปี 2558 ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่ลำดับ 4 ของโลก รองจากบราซิล สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป โดยมีปริมาณส่งออกประมาณ 6 แสนตัน คิดเป็นรายได้จำนวน 82,347 ล้านบาท ตลาดส่งออกไก่เนื้อของไทยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป เป็นสำคัญ
โดยมีคู่แข่งที่สำคัญได้แก่ไก่เนื้อจากบราซิลและสหรัฐอเมริกา สำหรับการส่งออกไก่เนื้อของไทยไปยังตลาดอาเซียนเพียง ร้อยละ 12.3 ของจำนวนการส่งออกทั้งหมดไก่เนื้อทั้งหมดของไทย สำหรับผู้ส่งออกรายใหญ่ในตลาดไก่เนื้อโลกได้แก่บราซิลร้อยละ 38.0 สหรัฐอเมริการ้อยละ 28.4 และสหภาพยุโรปร้อยละ 10.9 ส่วนไทยส่งออกไก่เนื้อคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 5.9 ของปริมาณการส่งออกในตลาดโลกจำนวน 10.76 ล้านตัน
ส่วนการผลิตไก่เนื้อของโลกนั้นมีอยู่ประมาณ 88.7 ล้านตันในปี 2558 โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตรายใหญ่หรือร้อยละ 20.29 ของผลผลิตไก่เนื้อโลก รองลงมาสามลำดับได้แก่ จีน บราซิล และสหภาพยุโรป คิดเป็นร้อยละ 15.10 14.77 และ 11.91 ตามลำดับ โดยการผลิตไก่เนื้อของไทยมีสัดส่วนในการผลิตของโลกเพียงร้อยละ 1.92 เท่านั้น ในด้านการบริโภคไก่เนื้อของโลกประเทศสหรัฐอเมริกาจะเป็นผู้บริโภครายใหญ่ของโลกหรือร้อยละ 17.36 รองลงมาได้แก่ จีน สหภาพยุโรป และบราซิล