ต้องช่วยดูแลเอกลักษณ์ “ข้าวหอมมะลิไทย”

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…รศ.สมพร  อิศวิลานนท์

            ตอนนี้ราคาข้าวหอมมะลิของไทยที่ปลูกในเขตทุ่งกุลาห้องไห้นั้นราคาพุ่งขึ้นกว่าตันละหรือเกวียน 1.7 หมื่นบาทครับ ที่ที่สำคัญมีการแย่งซื้ออีกด้วยอย่างที่เป็นข่าวเมื่อ 2-3 วันก่อน นี่เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า ข้าวหอมมะลิของไทยเราเป็นที่ต้องการของตลาด

              ข้าวหอมมะลิจัดเป็นสินค้าข้าวในระดับพรีเมี่ยมในตลาดการค้าข้าวโลก ประเทศไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดีทั้งมีกลิ่นหอมและมีความนุ่มเมื่อหุงสุกแล้ว แตกต่างไปจากข้าวเจ้าชนิดอื่นๆ จึงไม่น่าแปลกใจว่าราคาข้าวหอมมะลิในตลาดส่งออกจึงมีราคาสูงกว่าข้าวขาวทั่วไปเกือบหนึ่งเท่าตัว

              กระนั้น ในบางช่วงที่ผ่านมานั้น ราคาข้าวหอมมะลิของไทยมีระดับราคาตกต่ำอย่างมากเมื่อเทียบกับข้าวบาสมาติ ซึ่งเป็นข้าวหอมของอินเดียในช่วงปีก่อนหน้านี้  ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณทางการตลาดที่สะท้อนถึงปัจจัยความไม่เชื่อมั่นในคุณภาพความหอมของข้าวหอมมะลิไทย ทำให้ตลาดทอนค่าพรีเมี่ยมของความหอมลงและเหลือแต่ค่าพรีเมี่ยม ของความนุ่ม

             ตรงนี้แหละที่ทำให้ข้าวหอมมะลิไทยจึงมีราคาลดลงไปใกล้เคียงกับข้าวหอมของเวียดนามมากขึ้น ทำให้เป็นที่เกรงกันว่าหากไม่มีมาตรการเชิงระบบที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้แล้ว จะเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ข้าวหอมมะลิมีราคาสูงกลับคืนไปที่เดิมได้

[adrotate banner=”3″]

           ข้าวหอมมะลิเป็นข้าวที่มีพื้นที่เพาะปลูกในภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ ในปีการผลิต 2558มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิประมาณ 22ล้านไร่ และมีผลผลิตโดยรวมประมาณ 8 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นเนื้อที่และผลผลิตข้าวหอมมะลิในภาคอีสานถึงร้อยละ 80 ภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดพะเยาและเชียงราย และภาคกลางตอนบน ได้แก่จังหวัดนครสวรรค์ และพิษณุโลก มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิอยู่บ้าง

         ปกติแล้วความหอมของข้าวหอมมะลิจะขึ้นอยู่กับภูมินิเวศ แหล่งที่ถือว่าปลูกข้าวหอมมะลิและมีกลิ่นหอมมากได้แก่แหล่งเพาะปลูกในทุ่งกุลาร้องไห้ ที่รองลงมาได้แก่ภาคอีสานตอนบน ภาคอีสานตอนล่างและ ภาคเหนือตอนบน ส่วนข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่ภาคกลางนั้นจะมีคุณสมบัตินุ่มแต่จะไม่มีความหอมเหมือนข้าวหอมในภาคอีสาน

          หากสังเกตุดุในช่วงครึ่งทศรรษที่ผ่านมา ระบบการทำนาในแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิโดยเฉพาะในภาคอีสานได้ปรับเปลี่ยนไปจากอดีตเป็นอย่างมาก การที่เกษตรกรเข้าสู่ภาวะสูงวัย สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ขาดแคลนแรงงานและอัตราค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นอย่างมาก

         ตรงนี้แหละที่ ที่ทำให้ระบบการทำนาในภาคอีสานเปลี่ยนแปลงไป พึ่งพิงกับการจ้างเครื่องจักรกลและการใช้สารเคมีในแปลงนามากขึ้น อีกทั้งการขาดแคลนและการเข้าถึงแหล่งเมล็ดพันธุ์แท้ทำให้ความบริสุทธิ์ของพันธุ์ที่เกษตรกรใช้เพาะปลูกลดลง ประกอบกับมีการขยายตัวของการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิไปในพื้นที่ภาคกลางกันมากขึ้น

         ข้าวหอมมะลิที่ปลูกในภาคกลางจะมีเพียงคุณสมบัติของความนุ่มแต่ไม่มีความหอม ซึ่งเดิมเคยแบ่งแยกข้าวหอมมะลิประเภทนี้ออกจากข้าวหอมมะลิในภาคอีสานโดยเรียกว่าข้าวหอมจังหวัดแทนข้าวหอมมะลิ แต่ในปัจจุบันข้าวหอมจังหวัดได้ถูกนำเข้าไปรวมกับข้าวหอมมะลิ เพราะถือว่าเป็นข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เหมือนกัน แม้จะมีคุณภาพด้อยกว่าก็ตามทำให้เกิดการขยายตัวในอุปทานผลผลิตเพิ่มขึ้น

         นอกจากนี้ ความสำเร็จของการพัฒนาข้าวพันธุ์ไม่ไวแสงที่ปลูกในพื้นที่นาชลประทาน ให้มีคุณสมบัติของค่าอมิโรสต่ำเช่นเดียวกับข้าวหอมมะลิและมีขนาดและลักษณะของเมล็ดเมื่อสีเป็นข้าวสารแล้วคล้ายคลึงกับข้าวหอมมะลิมาก จนไม่สามารถแยกได้ด้วยตาเปล่า และต้องตรวจแยกคุณสมบัติโดยกระบวนการตรวจสอบดีเอ็นเอ

         ข้าวพันธุ์ไม่ไวแสงที่กล่าวถึงนี้ได้รับการตั้งชื่อว่าข้าวปทุมธานี 1 ข้าว กข 43 ซึ่งในที่นี้จะเรียกว่าข้าวหอม แต่มีคุณสมบัติด้อยกว่าข้าวหอมมะลิทั้งในลักษณะของความหอมและความนุ่ม

          ความสำเร็จของการสร้างข้าวพันธุ์ข้าวหอม ให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลินับได้ว่าเป็นความสามารถของนักวิชาการเกษตรของไทยเพราะเท่ากับว่าเป็นการปรับปรุงคุณภาพของข้าวพันธุ์ไม่ไวแสงที่ปลูกอยู่ในพื้นที่ชลประทานซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างและปลูกได้หลายครั้งต่อปีแหล่งผลิตข้าวในเขตชลประทานถือว่าเป็นแหล่งผลิตข้าวเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญทำให้คุณภาพของข้าวสารส่งออกของไทยในเขตชลประทานได้พัฒนาสูงขึ้นจากการปลูกข้าวพันธุ์ไม่ไวแสงโดยทั่วไปและช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ชลประทานได้รับราคาข้าวสูงขึ้นจากการปลูกข้าวพันธุ์ไม่ไวแสงอื่นๆ

          อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับข้าวหอมมะลิและชาวนาในภาคอีสานซึ่งอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งแล้ว จะพบว่าการขยายตัวของการปลูกข้าวหอมอย่างแพร่หลายของเกษตรกรในภาคกลางและการขยายตัวของการปลูกข้าวหอมจังหวัดในภาคกลางด้วยเช่นกัน ล้วนแต่ได้สร้างผลกระทบต่อเกษตรกรในภาคอีสาน

         เนื่องเพราะได้เกิดสินค้าข้าวหอมที่มีราคาต่ำกว่ามาทดแทนข้าวหอมมะลิที่มีราคาสูงกว่า อีกทั้งได้มีการนำข้าวหอมพันธุ์ไม่ไวแสงและข้าวหอมจังหวัดไปปนกับข้าวหอมมะลิในตลาดข้าวสารทั้งในตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก

          แม้ว่าในปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้จัดทำมาตรฐานข้าวหอมมะลิแต่การดูแลในภาคปฏิบัติยังขาดความเข้มแข็ง นอกจากนี้กฎระเบียบที่ออกยังไปสร้างต้นทุนให้เกิดกับข้าวหอมมะลิ อาทิเช่นการส่งออกข้าวหอมมะลิผู้ส่งออกจะต้องได้รับการตรวจดีเอ็นเอเพื่อรัฐจะได้ออกใบรับรองในคุณภาพของสินค้าให้ซึ่งมีค่าตรวจตัวอย่างละไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท แต่ผู้ส่งออกข้าวหอมอื่นๆไม่ต้องขอใบรับรองในคุณภาพ เป็นต้น

           การใช้รถเกี่ยว-นวดข้าวเพราะขาดแคลนแรงงานก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งเดิมการเก็บเกี่ยวข้าวในภาคอีสานจะใช้คนเก็บเกี่ยวและพึ่งฟ่อนข้าวไว้ 2-3 วันแล้วจึงนำไปนวดซึ่งจะทำให้ข้าวมีความชื้นต่ำสารความหอมที่มีอยู่ในเมล็ดข้าวจะไม่ระเหิดจากเมล็ดข้าวทำให้เมื่อสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสารจะทำให้ความหอมยังอยู่กับเมล็ดข้าว

           แต่…การที่ต้องจ้างรถเกี่ยว-นวดในปัจจุบันนี้ รถเกี่ยวจะเร่งรีบในการเก็บเกี่ยวไม่ว่าข้าวจะสุกได้ที่หรือไม่และข้าวที่เก็บเกี่ยวและนวดโดยรถเกี่ยว-นวดจะมีความชื้นสูง เมื่อต้องนำไปข้าวเปลือกอบลดความชื้น โดยผ่านกระบวนการให้ความร้อนจะทำให้สารความหอมระเหิดไปจากเมล็ดข้าวเปลือกและอาจจะส่งผลต่อคุณภาพข้าวสารตามมา

           การเปิดตลาดการค้าข้าวของไทยซึ่งจะเปิดเสรีตามข้อตกลงของกลุ่มอาเซียน ตั้งแต่ปี2553 เป็นต้นมาได้มีการนำเข้าข้าวหอมมะลิและข้าวหอมจากประเทศกัมพูชาทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ซึ่งข้าวขาวดอกมะลิที่มีการปลูกในประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าวแม้จะมีคุณสมบัติไม่เท่าเทียมกับข้าวขาวดอกมะลิที่ปลูกในทุ่งพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้แต่ราคาข้าวขาวดอกมะลิที่ต่ำกว่าในประเทศเพื่อนบ้านย่อมจะส่งผลต่อข้าวหอมมะลิของไทยในตลาดต่างประเทศอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

          ข้าวหอมมะลิในทุ่งกุลาร้องไห้นั้นเปรียบไปก็เสมือนเป็นสมบัติอันล้ำค่าของเกษตรกรในภาคอีสานและตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิพรีเมี่ยมของไทยแต่ความเป็นพลวัตที่เกิดขึ้นกับภาคการผลิตข้าวในประเทศ และรวมถึงการเกิดขึ้นของความสำเร็จของการผสมพันธุ์ข้าวหอมทั้งในประเทศและในต่างประเทศ กำลังจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเอกลักษณ์และคุณสมบัติเด่นของข้าวหอมมะลิในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ของไทย

           การร่วมกันเพื่อดูแลรักษาเอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิไทยจึงเป็นหน้าที่ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงเกษตรกร ที่จะต้องร่วมมือกัน เพราะหากปล่อยให้เป็นไปตามสภาพดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแล้ว ความเป็นเอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิไทยในตลาดข้าวหอมโลก คงจะไม่สามารถฟื้นกลับคืนมาได้