ผู้ว่าฯกยท.ชี้ราคายางตกต่ำ เป็นไปตามกลไกตลาด แจงโครงการประกันรายได้ฯ ช่วยลดความเสี่ยงให้เกษตรกร

  •  
  •  
  •  
  •  

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท

ผู้ว่าฯ การยางแห่งประเทศไทย ชี้ราคายางพาราปรับตัวเป็นไปตามกลไกตลาด ทั้งปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ เผยโครงการประกันรายได้ให้ชาวสวนยาง จะช่วยได้หากราคายางลง วอนให้เชื่อมั่น กยท. ยังคงดูแลยางพาราทั้งระบบทุกภาคส่วน

     นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)กล่าวว่า ราคายางพารามีการปรับตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายนถึงปลายตุลาคมที่ผ่านมา เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 54 บาท/กก. เป็น 82 บาท/กก. เพิ่มขึ้นประมาณ 28 บาท/กก. โดยปัจจัยมาจากในช่วงดังกล่าวผู้ซื้อในประเทศเร่งซื้อยางเพื่อส่งมอบตามสัญญา ประกอบกับความต้องการใช้ยางในประเทศสูง ขณะที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติต่างได้ผลกระทบจากพายุโซเดล และ โมลาเบ กระทั่งราคายางพาราเริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค 63 เป็นต้นมา จนเริ่มทรงตัวในขณะนี้. เป็นผลจากนักลงทุนต่างประเทศเกิดการเทขายเพื่อเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้า อีกทั้งการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID -19) ระลอกใหม่ หลายประเทศประกาศล็อกดาวน์อีกครั้ง ส่งผลต่อการส่งออกยางพารา รวมถึงเริ่มเข้าสู่ฤดูผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด

    ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 6 พ.ย. 63 ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ปิดตลาดราคาเฉลี่ยที่ 61.48 บาท/กก. ซึ่งถือว่าอยู่ในช่วงทรงตัวของราคา อย่างไรก็ตามในส่วนนี้รัฐบาลได้สั่งการให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เข้าดูแล ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

      อย่างไรก็ตาม  โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง เป็นมาตรการหนึ่งของรัฐบาลที่เน้นช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางโดยการประกันความเสี่ยงเรื่องรายได้ ซึ่งราคาประกันที่โครงการกำหนดไว้ คือ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาท/กก. น้ำยางสดราคา 57 บาท/กก. และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาท/กก. ทั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนยางต้องขึ้นทะเบียนกับ กยท. ก่อน 15 พฤษภาคม 63 มีสวนยางเปิดกรีดแล้ว อายุยาง 7 ปีขึ้นไป รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยจะได้รับเงินประกันรายได้นอกเหนือจากการขายยาง ตั้งแต่ ตุลาคม 63 – มีนาคม 64

     “กยท. เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในนามรัฐบาลมีบทบาทหน้าที่ดูแลยางพาราทั้งระบบ ครอบคุมทั้ง เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID -19) โดยทุกหน่วยต่างมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน รัฐบาลจะต้องเข้าไปดูแลและแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางอย่างแน่นอน”  ผู้ว่าฯ กยท. กล่าว