ชู “ข้าวเหนียวแดง” สินค้า GI เมืองเลย ช่วยต้านมะเร็ง น้ำตาลน้อย ราคาดีขายตันละ 8 หมื่น

  •  
  •  
  •  
  •  

 

กรมการข้าว รุกพัฒนาชุมชนต้นแบบแหล่งปลูกข้าวคุณภาพ โชว์ตัวอย่างวิสาหกิจชุมชนออมทรัพย์เกษตรยั่งยืนบ้านศรีเจริญ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย แหล่งเพาะปลูกข้าวเหนียวแดงเมืองเลย สินค้า GI จากหุบเขา มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยลดอัตราการเกิดของโรคมะเร็ง มีน้ำตาลต่ำ ราคาดีปีที่ผ่านมาขายได้ตันละ 80,000 บาท พร้อมต่อยอดข้าวสู่สินค้าเพิ่มมูลค่า แปรรูปเป็นโจ๊ก ภายใต้แบรนด์ “ขุนเลย” และสาโทจากข้าวเหนียวแดงเมืองเลย

วันที่  23 กันยายน 2567  นายโอวาท ยิ่งลาภ ผู้อำนวยการกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว เปิดเผยว่า แหล่งผลิตข้าวในจังหวัดเลย นอกจากข้าวเหนียวซิวเกลี้ยง อำเภอด่านซ้ายที่เป็นสินค้าขึ้นชื่อแล้ว ยังมีข้าวพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงอีกหนึ่งพันธุ์คือ “ข้าวเหนียวแดง เมืองเลย” ข้าวคุณภาพที่สามารถปลูกได้เฉพาะพื้นที่อำเภอภูหลวง และหนึ่งในชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการผลิตข้าวพันธุ์ดังกล่าวคือ วิสาหกิจชุมชนออมทรัพย์เกษตรยั่งยืนบ้านศรีเจริญ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย

                                                        โอวาท ยิ่งลาภ

ชุมชนแห่งนี้ได้อาศัยความโดดเด่นทางภูมิศาสตร์และประสบการณ์ความสามารถเฉพาะตัวในกระบวนการผลิตข้าวตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จนทำให้ข้าวเหนียวแดง เมืองเลยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) มีมูลค่าที่สูงขึ้น และเป็นที่รู้จักอย่างดีในกลุ่มผู้รักสุขภาพ ซึ่งข้าวเหนียวพันธุ์นี้มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวคือเมล็ดข้าวนุ่ม น้ำตาลต่ำ มีกลิ่นหอม และมีสารอาหารที่สูงจากธาตุที่ได้จากแหล่งเพาะปลูก และคงความนุ่มไว้ได้นาน

สำหรับข้าวเหนียวแดงเมืองเลย จะปลูกในที่ราบลุ่มและที่ราบระหว่างภูเขา ซึ่งดินในส่วนนั้นจะมีลักษณะร่วนหยาบที่เกิดจากตะกอนลำน้ำที่พัดพาจึงทำให้มีแร่ธาตุต่าง ๆ และด้วยสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าจังหวัดอื่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงเหมาะแก่การเจริญเติบโตของข้าวเหนียวแดง นอกจากนี้ ข้าวยังสามารถแตกกอได้มากกว่าปกติ โดยข้าว 1 ต้น จะแตกกอได้ 26 – 42 ต้น หนึ่งรวงให้ผลผลิตประมาณ 280 – 360 เมล็ด ให้ผลผลิตการเก็บเกี่ยวประมาณ 800 -1,200 กิโลกรัมต่อไร่ ด้วยแหล่งภูมิศาสตร์นี้ ทำให้เมล็ดข้าวมีเอกลักษณ์ชัดเจนด้วยสีฟางขีดน้ำตาลและไม่มีหางข้าว เมื่อนำไปหุงจะมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ หลังทิ้งไว้หลายชั่วโมงก็ยังสามารถคงความนุ่มได้นาน

นอกจากนี้ ด้วยความที่ข้าวเหนียวแดงเติบโตได้ดีในที่ราบระหว่างภูเขา ข้าวจึงมีความโดดเด่นในเรื่องของคุณประโยชน์ที่สูงมาก หรือมีลักษณะเป็น ”ซูเปอร์ฟู้ดส์” ซึ่งเป็นกลุ่มอาหารที่มีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายสูงมากปลอดภัยต่อสุขภาพในการนำมารับประทานในชีวิตประจำวัน โดยมีทั้งสารต้านอนุมูลอิสระสูง เบต้าแคโรทีน วิตามินอี และลูทีน โดยเฉพาะวิตามินอีที่สูงถึงประมาณ 400 ไมโครกรัมต่อข้าว 100 กรัม ช่วยป้องกันโรคลำไส้ มีสารอาหารที่ช่วยลดอัตราการเกิดของโรคมะเร็ง ลดอัตราความเสี่ยงของโรคหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคความจำเสื่อม โรคไขข้ออักเสบ และไม่ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นก่อนวัยอันควร

อีกทั้งยังมีน้ำตาลต่ำ ช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวาน   จากปัจจัยดังกล่าว กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว จึงมุ่งผลักดันชุมชนแห่งนี้ให้เป็นต้นแบบในการผลิตข้าว พร้อมมุ่งส่งเสริมการทำตลาดให้กับวิสาหกิจชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคสายสุขภาพพร้อมยังสนับสนุนให้ชุมชนรู้จักช่องทางการขายหรือแนวทางการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ที่ตรงกับความต้องการตลาดและผู้บริโภคในรูปแบบที่ไม่ใช่ข้าวบรรรจุถุง หรือเมล็ดพันธุ์เพียงอย่างเดียว”


ด้านนายแสวง ดาปะ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์เกษตรยั่งยืนบ้านศรีเจริญเปิดเผยว่า กรมการข้าวได้ส่งเสริมความยั่งยืนให้เกษตรกรในการส่งเสริมการปลูกข้าวตามแนวทางเกษตรอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าว ยกระดับผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการแปรรูปสินค้าที่หลากหลายและมีราคาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์เกษตรยั่งยืนบ้านศรีเจริญ ประกอบไปด้วยชาวบ้านในพื้นที่รวม 104 คน 80 ครอบครัวพื้นที่ปลูกข้าวรวม 70 ไร่ และจะทำการปลูกข้าวนาปี โดยมีฤดูกาลเพาะปลูกคือเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 800 – 1,200 กิโลกรัม/ไร่

โดยปีที่ผ่านมามีผลผลิตรวม 84 ตันสามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้ตันละ 80,000 บาท โดยกลุ่มสินค้าข้าวที่ขายดีที่สุดและสร้างรายได้ให้กับชุมชนคือ ข้าวเหนียวแดง บรรจุถุงใน 3 ขนาด ได้แก่ ขนาด 300 กรัม ขนาดครึ่งกิโลกรัม ขนาด 1 กิโลกรัม นอกจากนี้วิสาหกิจชุมชนได้ต่อยอด โดยผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เอง และขยายให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงอีก 4 ชุมชน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเมล็ดพันธุ์ที่เพิ่มมากขึ้น

                                                                      แสวง ดาปะ 

ทั้งนี้ คุณค่าทางสารอาหารที่มากประโยชน์ ความหอมที่เป็นเอกลักษณ์ และความนุ่มของข้าวถึงแม้หุ้งไว้หลายชั่วโมงยังอ่อนนุ่มคงเดิมของข้าวเหนียวแดง เมืองเลย ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของตลาด โดยมีกลุ่มที่สำคัญคือ ตลาดปันรักษ์ขุนเลย การออกบูธงานต่าง ๆ ของทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ได้มีการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ เฟซบุ๊ก อย่างไรก็ตาม ชุมชนยังเห็นโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่ม จึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวเหนียวแดง ด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นโจ๊กข้าวเหนียวแดง เมืองเลย ต่อยอดสรรพคุณของสารต้านอนุมูลอิสระและความมีประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นอาหารเช้ายอดนิยม และสาโทจากข้าวเหนียวแดงเมืองเลย ที่อยู่ในกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานกรมสรรพสามิต

นอกจากนี้ยังสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำนวัตกรรมมาแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ  ได้แก่ ข้าวบรรจุถุง และข้าวบรรจุถุงสุญญากาศ อีกทั้งยังมีกิจกรรมท่องเที่ยวชีวภาพ สัมผัสวิถีท้องถิ่นชุมชนบ้านศรีเจริญ ในตลาดปันรักษ์ขุนเลย สินค้าแปรรูปฝ้ายเป็นเสื้อผ้า ผ้าพันคอ ที่ใช้สีจากขี้ช้างในการย้อมผ้า และผลิตภัณฑ์แปรรูปตระกูลเบอรี่เป็น น้ำหมากเม่า กาแฟ และลิ้มรสอาหารพื้นเมือง ขันโตก