“กรมการข้าว” จับมือ “ชุมชนข้าวไร่บ้านน้ำเย็น” หนุนใช้สายพันธุ์ข้าว -วิถีทำนาดั้งเดิม ชู “ข้าวเหนียวแดง-ซิวเกลี้ยง” ตัวท็อปแห่งเมืองเลย

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                            จากซ้าย :สังวร จันทรคีรี-โอวาท ยิ่งลาภ

กรมการข้าว ย้อนยุคสนับสนุนความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมข้าวไทย จับมือวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่บ้านน้ำเย็นอำเภอด่านซ้าย  ด้วยการปลูกพันธุ์ข้าวพื้นเมืองและการทำนาด้วยวิถีดั้งเดิม ชูดข้าวเหนียว GI สายพันธุ์โบราณ ข้าวเหนียวแดงเมืองเลยและข้าวเหนียวซิวเกลี้ยงเมืองเลย  ระบุมีความโดดเด่นด้วยคุณประโยชน์ทางโภชนาการ รสชาติ ความนุ่ม และความหอมที่เป็นเอกลักษณ์ เผยปลูกได้ในเฉพาะพื้นที่ นำมาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้งข้าวบรรจุถุง ข้าวสุญญากาศ ข้าวหลาม และข้าวนางเล็ดน้ำแตงโม

วันที่  20 กันยายน 2567  นายโอวาท ยิ่งลาภ ผู้อำนวยการกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว  เปิดเผยว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมข้าวในหลากมิติ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่มีอยู่กว่า 40 ล้านไร่ ผลผลิตข้าวที่มากที่สุดในประเทศไทยเฉลี่ยต่อไร่กว่า 900 กิโลกรัม โดยยังเป็นแหล่งพัฒนา ผลิต แปรรูปข้าวคุณภาพในกลุ่มสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI รวมถึงข้าวพื้นถิ่นที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ที่เกษตรกรสามารถสร้างมูลค่าได้จากทั้งการผลิตข้าวเจ้าและข้าวเหนียวที่โดดเด่นทั้งความนุ่ม ความหอม รสชาติ ตามความเฉพาะตัวของแต่ละสายพันธุ์ ซึ่งความโดดเด่นหล่านี้สามารถตอบสนองความต้องการ – ปริมาณการบริโภคของคนได้ทั่วประเทศ

นอกจากความโดดเด่นดังกล่าว กรมการข้าวยังพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่มีการอนุรักษ์ การปลูกข้าวไว้อย่างหลากหลายและน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นกรรมวิธีในการเพาะปลูก / แปรรูป การมีเมล็ดพันธุ์ข้าวดั้งเดิมของแต่ละจังหวัด การทำนาด้วยความความประณีต – วิถีเกษตรอินทรีย์ที่สืบสานมาจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษซึ่งช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของทรัพยากรท้องถิ่น โดยวิธีการนี้ยังทำให้หลาย ๆ ชุมชนที่ปลูกข้าวสามารถพึ่งพาตนเองได้ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อีกด้วย”

นายโอวาท กล่าวอีกว่า  จังหวัดเลยเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการผลิตข้าวที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปัจจุบันมีข้าวในกลุ่มสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI ถึง 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย และข้าวเหนียวซิวเกลี้ยงเมืองเลย ซึ่งแปรรูปมาจากข้าวนาปีพันธุ์พื้นเมืองของ จ.เลย  ทั้งนี้ จากการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว คือวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่บ้านน้ำเย็น ชุมชนบ้านน้ำเย็น ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย

มีความโดดเด่นในการปลูกข้าวซิวเกลี้ยง ข้าวที่มากด้วยคุณประโยชน์ทางโภชนาการ ไม่ว่าจะเป็นไฟเบอร์สูง และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกี่ยวกับลำไส้ ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด แร่ธาตุและวิตามิน รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และควบคุมน้ำหนัก นอกจากนี้ยังเป็นข้าวที่ทำให้อิ่มนานและช่วยควบคุมน้ำหนัก ซึ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์สำหรับคนรักสุขภาพ และตลาดเฮลธ์ตี้

“กรมการข้าวได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกข้าวพื้นเมืองสายพันธุ์หายากให้กับชุมชน เกษตกร เพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์ข้าวที่ดีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งข้าวเหนียว “ซิวเกลี้ยง” เป็นข้าวไร่เฉพาะถิ่นจังหวัดเลย เป็น 1 ในสายพันธุ์ข้าวหายากและได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ปลูกในที่ราบระหว่างภูเขาที่มีความสูง 500 – 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง หรือนาในที่ลุ่มที่ไม่มีน้ำขัง ในพื้นที่อำเภอด่านซ้าย ภูเรือ และนาแห้ว โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่บ้านน้ำเย็น ใช้วิธีการคัดเลือกพันธุ์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เป็นพันธุ์ข้าวไม่ล้มง่าย แตกกอดี ต้านทานโรค มีรวงยาวใหญ่ ทั้งนี้ ความพิเศษของข้าวสายพันธุ์ซิวเกลี้ยงคือถึงแม้ฝนทิ้งช่วง 10 – 20 วันข้าวก็ไม่ตาย ทนต่อความเป็นกรดเป็นด่างได้สูง ความเป็นกรดเป็นด่างของดินไม่มีผลต่อการออกรวงและการให้ผลผลิต  ข้าวพันธุ์นี้ยังมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวไม่เหมือนข้าวสายพันธุ์อื่น ๆ อีกด้วย” ผอ.กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว กล่าว

ด้านนายสังวร จันทรคีรี ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่บ้านน้ำเย็น เปิดเผยว่า ชุมชนได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จากกรมการข้าวในการต่อยอดข้าวให้มีคุณภาพที่มีราคาสูง โดยมุ่งเน้นการปลูกและพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวด้วยการส่งเสริมการทำการเกษตรด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับกรรมวิธีแบบดั้งเดิม ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่บ้านน้ำเย็นประกอบไปด้วยสมาชิกในวิสาหกิ จชุมชน 60 คน 60 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกข้าวรวม 300 ไร่ เกษตรกรยึดอาชีพการปลูกข้าวเหนียวซิวเกลี้ยงมาตั้งแต่โบราณ และจะทำการปลูกข้าวผสานกับการปลูกพืชหมุนเวียนการเกษตร อาทิ ปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง แก้วมังกร และจะทำการปลูกข้าวนาปี

โดยมีฤดูกาลเพาะปลูกคือเดือนพฤษภาคม – กันยายน และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนตุลาคม ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 500 กิโลกรัม/ไร่ แต่หากดินมีคุณภาพที่ดีมีโอกาสได้ถึง 800 กิโลกรัม/ไร่ โดยปีที่ผ่านมามีผลผลิตรวม 325 ตัน สามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้ตันละ 50,000 บาท โดยกลุ่มสินค้าข้าวที่ขายดีที่สุดและสร้างรายได้ให้กับชุมชนคือ ข้าวเหนียวซิวเกลี้ยงชนิดบรรจุถุง 2 ขนาด ได้แก่ ขนาด 1 กิโลกรัม และขนาด 5 กิโลกรัม

ทั้งนี้ ด้วยคุณสมบัติที่อ่อนนุ่ม ความหอม และรสสัมผัสที่อร่อยของข้าวเหนียวซิวเกลี้ยง ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของตลาด โดยมีกลุ่มที่สำคัญคือ หจก.สุขใจพาณิช จังหวัดเลย ตลาดนัดชุมชน และจัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์เฟซบุ๊ก อย่างไรก็ตาม ชุมชนยังเห็นโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่ม จึงได้เพิ่มความโดดเด่นให้กับข้าวเหนียวซิวเกลี้ยงด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นไอศกรีม ต่อยอดสรรพคุณของสารต้านอนุมูลอิสระและมีประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมและยังสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำมาแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ  ได้แก่ ข้าวบรรจุถุงสุญญากาศ ข้าวหลาม และข้าวนางเล็ดน้ำแตงโม อีกทั้งยังมีกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของเกษตรกรและการปลูกข้าว เช่น การทดลองปลูกข้าวบนเขา การรับชมประเพณีและการทำพิธีไหว้ผีไร่ผีนา กิจกรรมทำไอศกรีมข้าวเหนียว