เกษตรกรภาคใต้แห่ปลูกไม้ผลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึงร้อยละ 6.57 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประเมินข้อมูล 4 ชนิด “ทุเรียน-มังคุด-เงาะ-ลองกอง” มีผลผลิตรวม 7.4 แสนตัน เริ่มทยอยออกสู่ตลาดแล้วและจะมีปริมาณมากในเดือนสิงหาคม
นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการจัดทำข้อมูลปริมาณการผลิตไม้ผลภาคใต้ ปี 2567 ครั้งที่ 2 (ข้อมูล ณ 21 มิถุนายน 2567) ว่า สศก. โดย สศท.8 สศท.9 และสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 (สสก.5) ร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้ พิจารณาผลพยากรณ์ ของสินค้า 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 14 จังหวัด (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส)
คาดว่า เนื้อที่ยืนต้น จำนวน 1,213,847 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 1,139,056 ไร่ หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.57 เนื้อที่ให้ผล จำนวน 970,031 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 948,949 ไร่ หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.22 สำหรับภาพรวมของเนื้อที่ยืนต้นและเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาทุเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น โดยปลูกทุเรียนทดแทน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กาแฟ ไม้ผล (มังคุด เงาะ ลองกอง) และปลูกเพิ่มในพื้นที่ว่าง ทั้งนี้ ผลผลิตในฤดูของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ออกสู่ตลาดเดือนมิถุนายน – ตุลาคม 2567 และผลผลิตนอกฤดูออกสู่ตลาด 2 ช่วง คือ เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2567 และเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2567
นิกร แสงเกตุ
ด้านปริมาณผลผลิตรวมทั้งในฤดูและนอกฤดู จำนวน 743,322 ตัน ลดลงจากปี 2566 ที่มีจำนวน 848,094 ตัน หรือ ลดลงร้อยละ 12.35 โดย ทุเรียน มีจำนวน 558,353 ตัน ลดลงร้อยละ 8.83 มังคุด มีจำนวน 118,629 ตัน ลดลงร้อยละ 20.04 เงาะ มีจำนวน 42,996 ตัน ลดลงร้อยละ 19.63 และลองกอง มีจำนวน 23,344 ตัน ลดลงร้อยละ 30.97 ซึ่งไม้ผลทั้ง 4 ชนิดลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแล้งมากตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ดอกและผลร่วง บางพื้นที่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนต้องตัดผลทุเรียนทิ้งเพื่อรักษาต้นทุเรียนไว้ ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงตามไปด้วย
สำหรับภาพรวมของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ขณะนี้เป็นช่วงผลผลิตในฤดูทยอยออกสู่ตลาด (มิถุนายน – ตุลาคม 2567) โดยผลผลิตตั้งแต่เดือนมิถุนายน – 15 กรกฎาคม 2567 ออกตลาดไปแล้ว จำนวน 172,548 ต้น หรือร้อยละ 27.32 ของผลผลิตทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ ทุเรียน ออกดอกแล้ว ร้อยละ 85 อยู่ในระยะพัฒนาผล เกษตรกรเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนสิงหาคม 2567
มังคุด ออกดอกแล้ว ร้อยละ 82 อยู่ในระยะพัฒนาผล เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกได้ช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนสิงหาคม 2567 เงาะ ออกดอกแล้ว ร้อยละ 85 อยู่ในระยะพัฒนาผล เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกได้ช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 และลองกอง ออกดอกบ้างแล้ว ร้อยละ 36 ส่วนใหญ่อยู่ในระยะติดผลอ่อน เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกได้ช่วงเดือนมิถุนายน 2567 ผลผลิตจะออกมาก ช่วงเดือนกันยายน 2567
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ จะยึดหลักการตามแผนปฏิบัติบริหารจัดการผลไม้ ปี 2567 – 2570 ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้มีมติเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 เพื่อให้สอดรับกับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเพิ่มรายได้ของเกษตรกรชาวสวนไม้ผลให้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี มีดังนี้ 1) การปรับเพิ่มผลิตภาพการผลิตเพื่อพัฒนามาตรฐานคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์ผลไม้ 2) การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์ผลไม้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา 3) การป้องกัน ควบคุม กำกับคุณภาพ มาตรฐานสินค้าผลไม้เพื่อรักษาระดับมาตรฐานคุณภาพ 4) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแผนปฏิบัติการผลไม้
โดยมีวิธีการดำเนินการ ประกอบด้วย 1) การบริหารจัดการเชิงคุณภาพ จัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ระดับจังหวัด การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลไม้ การสร้างมูลค่าเพิ่มของผลไม้ตลอดฤดูกาลผลิตจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด 2) การบริหารจัดการ เชิงปริมาณ เน้นบริหารจัดการจัดสมดุลอุปสงค์ – อุปทาน โดยวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการทางการตลาดของผลไม้แต่ละชนิด และ 3) จัดเตรียมแผนบริหารจัดการผลไม้เพื่อรองรับปริมาณผลผลิตในฤดูกาล โดยเฉพาะช่วงที่ผลไม้ ออกมาก (Peak) เพื่อบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนอาจส่งผลให้ปริมาณผลผลิตไม้ผลเปลี่ยนแปลงลดลงได้ ซึ่งสศท.8 และ สศท.9 จะได้ติดตามสถานการณ์โดยร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้ อย่างใกล้ชิดต่อไป สำหรับผลการพิจารณาข้อมูลเอกภาพไม้ผล ปี 2567 ภาคใต้ 14 จังหวัด ครั้งที่ 2 นี้ จะนำไปใช้เป็นข้อมูลจัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ ปี 2567 ระดับจังหวัด ระดับภาคใต้ และเสนอต่อคณะกรรมการบริหารและจัดการไม้ผล (Fruit Board) ต่อไป ท่านที่สนใจข้อมูลไม้ผลภาคใต้สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.8 โทร. 0 7731 1641 หรืออีเมล zone8@oae.go.th