สมาคมพืชสวนฯจับมือหน่วยงานพันธมิตร ระดมมันสมองระดับกูรูติวเข้มเกษตรกรผู้ปลูกรทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันตก เน้น “ปลูกทุเรียนอย่างยั่งยืน-การป้องกันกำจัดโรคทุเรียนอย่างถูกต้องเหมาะสม” ภายใต้โครงการ “เกษตรกรยุคใหม่ผลิตได้อย่างยั่งยืน” หลังพบว่าเมืองกาญจน์ ที่ อ.ทองผาภูมิ เป็นแหล่งปลูกทุเรียนแห่งใหม่ของประเทศไทยที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ไม่มีใครเหมือนทั้งกลิ่นน้อย รสชาติดี หวานมัน เน้นส่งออกไปจีน
ผ่านไปด้วยดีสำหรับโครงการ “เกษตรกรยุคใหม่ผลิตได้อย่างยั่งยืน” จัดโดยสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทยและหน่วยงานพันธมิตร พร้อมจัดอบรม เสวนาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่ระเบียงตะวันนตกนหัวข้อ “การปลูกทุเรียนอย่างยั่งยืน” และ “การป้องกันกำจัดโรคทุเรียนอย่างถูกต้องเหมาะสม” ณ ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลท่าชนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคม 2567 โดยมีนายวีระศักดิ์ สุขทอง เกษตรจังหวัดการญจนบุรี เป็นประธานเปิดเสวนา พร้อมจัดทริปไปดูงานในพื้นที่ทั้งที่เป็นสวนทุเรียนยุคบุกเบิกใน อ.ทองผาภูมิที่ “สวนศีสมนึก” ของนายสมนึก กาญจนพิบูลย์ ที่ ต.ห้วยเขยง และสวนของเกษตรกรรุ่นใหม่ของนายศุภชัย มุลิน วัย 28 ปีที่ ต.ท่าแพ เป็นต้น
ผศ.ดร.สุนทร พิพิธ แสงจันทร์ สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดโครงการในครั้งนี้เป็นความร่วมมือหลายภาคส่วนที่เป็นหน่วยงานพันธมิตร ทั้งกรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมส่งเสริมการเกษตร คณะกรรมการเพิ่มมูลค่าพืชเกษตร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมมะพร้าวน้ำหอมไทย สมาคมอารักขาพืชไทย และหน่วยงานพันธมิตรในพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจาก GlobalGiving ร่วมกับ Corteva Agriscience เพื่อให้เกษตรกรยุคใหม่สามารถรับมือกับวิกฤตการณ์และก้าวทันความเปลี่ยนแปลงได้ และสร้างความเข้มแข็งของอนาคตเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.สุนทร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันทุเรียนกำลังมาแรง เป็นพืชส่งออกปีละถึงหลักแสนล้านบาท ทำให้คนหันมาสนใจ ปลูกทุเรียนมากขึ้น สำหรับการปลูกทุเรียนในภาคตะวันตก ก็จะต้องสร้างเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งในฐานะที่สมาคมพืชสวนฯ ดูแลและได้คลุกคลีติดตาม สถานการณ์ในวงการพืชสวนทั้งการปลูกและตลาดจึงมองว่าในเขตระระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก มีการปลูกทุเรียนมากขึ้น จึงจัดโครงการเกษตรกรยุคใหม่ผลิตได้อย่างยั่งยืนพร้อมๆกับการอบรม เสวนาการปลูกทุเรียนยุคใหม่อย่างยั่งยืนโดยมีวิทยากรหลายภาคส่วนมาให้ความรู้ ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งปัจจุบัน มีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนไม่ใช่เป็นเกษตรกรรุ่นเก่าแล้ว หากแต่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีการศึกษา มีเงินทุน พร้อมที่จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้มากขึ้น
จากซ้าย : ผศ.ดร.สุนทร พิพิธ แสงจันทร์-วีระศักดิ์ สุขทอง
นายวีระศักดิ์ สุขทอง เกษตรจังหวัดกาญจนบุรี บอกว่า ปัจจุบันนี้ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีกำลังกลายเป็นแหล่งปลูกทุเรียนแห่งใหม่ของประเทศไทย มีการปลูกทุเรียนที่ขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 7,000 ไร่ แต่ถ้ารวมทั้งหมดที่ไม่ขึ้นทะเบียนด้วยกว่า 1 หมื่นไร่ ส่วนใหญ่ปลูกในพื้นที่ อ.ทองผาภูมิปลูกมากที่สุด
ส่วนสายพันธุ์ที่ปลูกมากที่สุดเป็นหมอนทองเป็นหลัก ที่เหลือเป็นสายพันธุ์อื่นปะปนบ้าง อาทิ ก้านยาว พวงมณี มูซังคิง นกกระจิบ รวมถึงหลิน-หลงลับแล โดยจะมีล้งรับซื้อเพื่อส่งออกไปจีนในราคา กก.ละ 150-170 บาท สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่าเกษตรกรนั้นก็ยังประสบปัญหาในเรื่องของโรคไฟทอปธอร่าหรือรากเน่าโคนเน่า ที่เกิดจากเชื้อราระบาดหนักที่ต้องให้การแนะนำและช่วยเหลือต่อไป
“โรงการนี้ถือว่าดีมากที่จะได้แนะนำเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในหลายๆมุมมอง เพื่อพัฒนาทุเรียนใน จ.กาญจนบุรีต่อไป แต่ทั้งนี้และทางนั้นต้องบอกว่า ทุเรียนจังหวัดกาญจนบุรีนั้นเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง นั่นก็คือ กลิ่นไม่แรง รสชาติหวาน มัน อร่อยที่แตกต่างกว่าที่อื่น จึงอยากจะให้ คนไทยเราก็ได้มาลองกินทุเรียนทองผาภูมิบ้าง” เกษตรจังหสัดกาญจนบุรี กล่าว
ด้านนายศักดา ศรีนิเวศน์ นักวิชาการอิสระ อดีตนักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กรมส่งเสริมการเกษตร หลังจากที่ตนเกษียณอายุราชการแล้วก็ยังติดตามและคลุกคลีอยู่กับวงการการทุเรียนมาตลอดทั้งการปลูก การตลาดในหลายประเทศที่ปลูกทุเรียนและรับซื้อทุเรียนไม่ว่าจะเป็น จีนซึ่งเป็นตลาดผู้ซื้อ และเวียดนามซึ่งเป็นผู้ปลูกที่แข่งกับไทย อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าปัจจุบันเวียดนามมีการพัฒนาการปลูกทุเรียนไปมากแล้วและปลูกมากนับล้านไร่เกือบพอๆกับไทย แต่มีการพัฒนาใช้เทคโนโลยีในการปลูกได้รวดเร็วมาก ทำให้เวียดนามประสบปัญหาในเรื่องของโรคไฟทอปธอร่าน้อยกว่า
ศักดา ศรีนิเวศน์
“การปลูกทุเรียนในยุคใหม่ต้องตามใจลูกค้า เพราะลูกค้าคือนาย เท่าที่เราพบเห็น ตอนนี้ลูกค้ารายใหญ่ของเราก็คือจีน คนจีนรุ่นใหม่ ไม่ใช่รุ่นอาม่า รุ่นอากงแล้ว คนจีนรุ่นใหม่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เดิมคนจีนนิยมบริโภคทุเรียนลูกใหญ่ แต่ตอนนี้หันมาบริโภคทุเรียนลูกเล็กขนาดไม่เกิน 2 กก.กล่องละ 10 ลูกราคากล่องละราว 500 หยวน เขาบอกว่าลูกใหญ่ไม่อร่อย ลูกเล็กอร่อยกว่า ลูกหนึ่งกินคนเดียวได้ ความเสี่ยงน้อย ถ้าไม่อร่อยทิ้งได้ไม่เสียดายเพราะลูกเล็ก ฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนผลิตทุเรียนตามลูกค้าต้องการ ให้ลูกมีขนาดเล็กลง เน้นรพัฒนาด้านคุณภาพ เพื่อสู้คู่แข่ง ส่วนทุเรียนขนาดใหญ่ เน้นช่วงเทศกาลเพราะคนจีนจะนิยมไหว้เจ้าเอาลูกใหญ่ๆ” นายศักดา กล่าว
เปรม ณ สงขลา
ขณะที่ นายเปรม ณ สงขลา อดีตบรรณาธิการบริหารวรสารเคหะเกษตร และเจ้าของสวน “เคห-สมาร์ทฟาร์ม” อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี บอกว่า ปัจจุบันนี้ภาคการเกษตรได้มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว จะทำแบบเดิมไม่ได้ นอกจากการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพของภูมิอากาศ ที่จำเป็นจะต้องนำเทคโนโนโลยีผสมผสานกับภูมิปัญญามาช่วยในการจัดการสวน เพื่อการผลิตให้มีคุณภาพ
“ปีนี้เราเห็นได้ชัดว่าสภาพอากาศร้อนมาก กระทบโดยตรงกับภาคการเกษตร และอาจจะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ผมขอแนะแบบง่ายๆสู้กับอากาศร้อนคือปลูกต้นไม้กันลม เพราะลมและแดดนั้นเป็นตัวที่พัดความร่มรื่นและความชื่นไปสู่อากาศ มีต้นไม้บังลม บังแดด บังแมลงศัตรูพืชได้ในระดับนึง และสิ่งที่ดีที่สุดก็คือการร่องน้ำที่เป็นคูตามร่องส่วน คูน้ำจะปล่อยด้วยการระเหยความชื่นได้ตลอดเวลาและดีมากด้วย”นายเปรม กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสวนทุเรียนเอง ที่ผ่านมาเกษตรกรก็มีสปริงเกอร์รดน้ำอยู่ แต่ในสภาพที่อากาศร้อนอย่างปัจจุบันนี้ไม่เพียงพอ ต้องทำระบบพ่นน้ำเพิ่มเติม ในพ่นบนต้นเป็น เพราะการทำเกษตรในยุคโลกเปลี่ยนไม่มีสูตรใต้ตัว ต้องปรับตามสภาพที่เป็นอยู่หลักสูตรที่เขียนไว้ 1 2 3….แค่หลัก แต่เวลาปฏิบัติกันจริงแล้วต้องปรับปรุงแก้ไขตามสภาพของภูมิอากาศ เพราะการเกษตรต้องใช้ศาสตร์และศิลป์มาผสมกัน
นอกจากนี้ ศ.(เกียรติคุณ) ดร.จริงแท้ ศิริพานิช กรรมการผู้ทรงคุณวุติสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และอาจารย์ภาควิชาพืชสวนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับงานวิจัยเกี่ยวทุเรียนในประเทศไทย ที่จะช่วยให้การผลิตทุเรียนได้มีคุณภาพ
จากการเสวนาในในครั้ง ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากเกษตรในพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ และใกล้เคียง มารับฟังกันจำนวนมาก ส่วนใหญ่เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนรายย่อย รอบๆอ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลม ทั้งรายเก่าและผู้ที่เริ่มต้นปลูกใหม่ ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่บอกว่า การปลูกทุเรียนใน อ.ทองผาภูมิ ต่างประสบปัญหามากมาย โดย โรคไฟทอปธอร่า หรือรากเน่าโคนเน่าที่พบมากที่สุด อีกปัญหาหนึ่งซึ่งปีนี้รุรแรงคือปัญหาเรื่องภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ อากาศร้อน ทำให้ผลผลิตลดลง จึงหวังการเสวนาในครั้งนี้จะได้รับความรู้ที่นำไปปฏิบัติต้อไป