พีรพันธ์ คอทอง
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะวิธีดูแลสวนกล้วยไม้ในฤดูแล้ง เผยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดฝนทิ้งช่วง ภัยแล้ง อุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 40 องศาเซลเซียส ความชื้นในอากาศต่ำ ทำให้กล้วยไม้สังเคราะห์แสงได้ลดลง โตช้า ดอกสั้น
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดฝนทิ้งช่วง ภัยแล้ง อุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 40 องศาเซลเซียส ความชื้นในอากาศต่ำ ทำให้กล้วยไม้สังเคราะห์แสงได้ลดลง เกษตรกรจะพบเห็นกล้วยไม้แสดงอาการเจริญเติบโตช้า แทงช่อดอกน้อย ดอกสั้น สีไม่สดใส และดอกตูมร่วง หากอุณหภูมิสูงมาก ๆ จะส่งผลให้กล้วยไม้ใบเหี่ยวย่น ขอบไหม้ เริ่มเหลืองและร่วง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นกำลังใจให้เกษตรกรก้าวข้ามผ่านหน้าแล้งนี้ไปให้ได้ และในช่วงฤดูแล้งนี้มีอากาศร้อนจัดและแสงแดดจัด เกษตรกรควรหมั่นสังเกตลักษณะสภาพของต้นกล้วยไม้ เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลกล้วยไม้ได้อย่างถูกต้องตามสถานการณ์ ดังนี้
1. เพิ่มการพรางแสงแดดด้วยตาข่ายพรางแสง กรองแสงเพื่อลดความเข้มแสงแดด โดยเพิ่มตาข่ายพรางแสงซ้อนทับกันในกล้วยไม้เล็ก และเพิ่มตาข่ายพรางแสงในลักษณะซ้อนสลับกันระหว่างช่องที่แสงแดดส่องถึงในกล้วยไม้ใหญ่
2. เพิ่มระยะเวลาการให้น้ำ จากเดิมประมาณ 3 – 5 นาที เป็น 5 – 8 นาที และเพิ่มจำนวนครั้งการให้น้ำให้ชุ่ม ทั้งในช่วงเช้ามืด (ก่อนเวลา 09.00 น.) และช่วงบ่าย (หลังเวลา 17.00 น.) เกษตรกรบางรายอาจปรับเปลี่ยนและเพิ่มการให้น้ำในช่วงเวลาประมาณ 17.00 – 20.00 น. ได้ ซึ่งการให้น้ำอย่างเหมาะสมจะทำให้ปากใบเปิดนานขึ้นและอัตราการสังเคราะห์แสงสูงขึ้น ส่งผลให้กล้วยไม้เจริญเติบโตและให้ผลผลิตมากขึ้น
3. เพิ่มปุ๋ยไนโตรเจน (N) ในกล้วยไม้รากอากาศ (มอคคารา) เพื่อให้กล้วยไม้เจริญเติบโตทางต้นและแข็งแรง ตัวอย่างปุ๋ย จากปกติใช้สูตรเสมอ (20-20-20) จำนวน 5 กิโลกรัม ให้เพิ่มยูเรียจำนวน 1 กิโลกรัม
4. ระหว่างรอขนส่งจากแปลงกล้วยไม้ กรณีไม้ช่อให้ราดน้ำหรือจุ่มน้ำตอนกำกล้วยไม้ ห่อด้วยผ้าชุบน้ำ และพักไว้ในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทสะดวก
5. อาจพบการระบาดของเพลี้ยไฟและบั่วกล้วยไม้ ซึ่งการป้องกันกำจัดนอกจากใช้สารเคมี สลับกลุ่มให้ถูกต้องแล้ว จำเป็นต้องควบคุมค่าความเป็นกรดด่างของน้ำให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง ควรใช้สารป้องกันกำจัดในอัตราเพิ่มขึ้น ฉีดพ่นให้ทั่วถึงและในกรณีไม่มีน้ำ ควรใช้แผ่นกับดักกาวเหนียวร่วมด้วย
6. พื้นที่ใกล้ทะเล ควรเฝ้าระวังน้ำเค็มจากทะเลไหลเข้ามาในแหล่งน้ำที่ใช้อยู่ ซึ่งจะส่งผลให้กล้วยไม้เจริญเติบโตช้า และแสดงอาการใบไหม้ จึงต้องเตรียมกักเก็บน้ำไว้ล่วงหน้าและตรวจวัดค่าความเค็ม หรือค่า EC ของน้ำเป็นระยะ ๆ หากเกิดสถานการณ์ภัยแล้ง ไม่ควรเติมน้ำเข้าบ่อกักเก็บน้ำในสวน แต่ควรหาน้ำจากแหล่งน้ำที่ยังมีคุณภาพดี (น้ำจืดที่มีค่า EC ของน้ำ ไม่เกิน 0.75 กรัม/ลิตร) มาเก็บกักในบ่อพักให้เต็ม โดยมีข้อควรระวัง คือ ควรรักษาระดับน้ำในบ่อพักน้ำในสวนกล้วยไม้ให้สูงกว่าระดับน้ำข้างนอก เพื่อดันไม่ให้น้ำจากข้างนอกซึ่งอาจจะเป็นน้ำเค็มไหลซึมเข้าบ่อ กรณีน้ำในบ่อพักมีค่าความเค็มสูงขึ้นสามารถเจือจางได้ โดยการเติมน้ำจืดประมาณ 2 เท่าของน้ำเค็ม