“อรรถกร” ชู “สวนทรัพย์ประภา” ต้นแบบ “สมุทรสาครโมเดล การผลิตมะพร้าวน้ำหอม GI สร้างรายได้สูง”

  •  
  •  
  •  
  •  

“อรรถกร” ลงพื้นที่มหาชัย ชู “สวนทรัพย์ประภา” เป็นแปลงต้นแบบ “สมุทรสาครโมเดล การผลิตมะพร้าวน้ำหอม GI สร้างรายได้สูง” และต้นแบบ “แม่พันธุ์มะพร้าวน้ำหอม GI บ้านแพ้ว” ยกระดับสินค้าเกษตร สร้างรายได้สูง พร้อมรับปากจะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ถาคเอกชนวางแผนหาตลาดรองรับช่วงมีผลผลิตจำนวนมากออกสู่ตลาดมากช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ตามนโยบาย ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ของรัฐบาลต่อไป

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ดร.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสวนทรัพย์ประภา “สมุทรสาครโมเดล การผลิตมะพร้าวน้ำหอม 
GI สร้างรายได้สูง” โครงการ 76 จังหวัด 76 โมเดล การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง

โอกาสนี้ ได้มอบใบเกียรติบัตรรับรองแปลงต้นแบบแม่พันธุ์มะพร้าวน้ำหอม GI บ้านแพ้ว ให้แก่ นายประเสริฐ ทรัพย์มา มอบใบประกาศ GAP Monkey Free Plus ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม จำนวน 14 ราย และมอบต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ดีให้เกษตรกร จำนวน 10 ราย โดยมี ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตร เข้าร่วม ณ สวนทรัพย์ประภา อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

นายอรรถกร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทุกหน่วยงานในสังกัด ได้ร่วมกันดำเนินโครงการ 76 จังหวัด 76 โมเดล การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง ตามนโยบายของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสวนทรัพย์ประภา “สมุทรสาครโมเดล การผลิตมะพร้าวน้ำหอม GI สร้างรายได้สูง” เป็นต้นแบบ“สมุทรสาครโมเดล การผลิตมะพร้าวน้ำหอม GI สร้างรายได้สูง” รวมทั้งเป็นแปลงต้นแบบแม่พันธุ์มะพร้าวน้ำหอม GI บ้านแพ้ว ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และ GAP Monkey Free plus มีการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุ (Zero waste) และสามารถขยายผลเทคโนโลยีสู่กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตมะพร้าวน้ำหอมในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียงให้สามารถนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ทั่วประเทศ สู่การพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทย

รมช.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า สวนแห่งนี้ถือเป็นต้นแบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพ สามารถใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติสำหรับการพัฒนาหรือปรับใช้ในการเพิ่มขีดความสามารถเพื่อการผลิตมะพร้าวน้ำหอมคุณภาพ รวมถึงการทำแปลงแม่พันธุ์เพื่อผลิตต้นกล้าพันธุ์ดี โดยมีการบูรณาการร่วมกัน
ทั้งเกษตรกร กลุ่ม เครือข่ายเกษตรกร และหน่วยงานภาครัฐ สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร โดยใช้หลัก 
“ตลาดนำ นวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้” ตามนโยบายรัฐบาล ช่วยยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศต่อไป

“กระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัย โดยจะเร่งตรวจรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP (Good Agricultural Practices) ให้เกษตรกรมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ รวมทั้งยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ทั้งการนำเข้า และส่งออก เนื่องจากขั้นตอนการนำเข้าสินค้านั้นง่ายกว่าการส่งออก จึงต้องกลับมาดูว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลกันได้ สำหรับปัญหาอื่นๆ เช่น น้ำในแหล่งน้ำ ที่ปีนี้เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวได้รับผลกระทบ กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งหารือแนวทางช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องที่ได้รับความเสียหายในเบื้องต้นก่อน นอกจากนี้ ในเรื่องการจัดการซากมะพร้าวที่เหลือใช้ซึ่งมีจำนวนมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งมือหาแนวทางนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร มาทำให้เกิดประโยชน์ต่อได้ ก็จะเป็นการลดต้นทุน” นายอรรถกร กล่าว

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มราคามะพร้าวที่เกษตรกรเป็นกังวลว่า เนื่องจากช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม จะมีผลผลิตจำนวนมากออกสู่ตลาดมาก อาจทำให้เกิดปัญหาสินค้าล้นตลาด กระทรวงเกษตรฯ ไม่นิ่งนอนใจ จะทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ 
ภาคเอกชน ในการวางแผนหาตลาดรองรับ ป้องกันไม่ให้สินค้าล้นตลาด ตามนโยบาย ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ของรัฐบาลต่อไป

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรราชบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ได้คัดเลือกสวนทรัพย์ประภาเป็นโมเดลระดับจังหวัด ที่ได้นำเทคโนโลยี ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรมาใช้ในการแก้ปัญหา และเพิ่มมูลค่า ของผลผลิต ได้แก่ เทคโนโลยีการคัดเลือกแม่พันธุ์ดี การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าวโดยวิธีผสมผสาน การจัดการสวนแบบ Zero waste และการรับรองมาตรฐาน GAP Monkey Free Plus อีกทั้งยังเป็น “แปลงต้นแบบแม่พันธุ์มะพร้าวน้ำหอม GI บ้านแพ้ว” ที่ผ่านการรับรองโดยกรมวิชาการเกษตร สามารถสร้างรายได้ถึง 184,266 บาทต่อไร่ต่อปี และมีเกษตรกรเครือข่าย จำนวน 39 ราย