กรมชลประทาน วอนเกษตรกรไม่ทำนาปรังรอบสอง เพื่อลดความเสียหายผลผลิตจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ หลังพบทำนาปรังรอบแรกเกินแผนฯ 152 % ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 48,795 ล้าน ลบ.ม. หรือ 64% ของความจุอ่างฯ รวมกัน ใช้การได้เพียง 24,854 ล้าน ลบ.ม.คาดปลายฤดูฝนปีนี้จะมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ
นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (14 มี.ค. 67) ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 48,795 ล้าน ลบ.ม. (64% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 24,854 ล้าน ลบ.ม. (47% ของความจุอ่างฯรวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 13,446 ล้าน ลบ.ม. (54% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ปริมาณน้ำใช้การได้ 6,750 ล้าน ลบ.ม. (37% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ตั้งแต่ 1 พ.ย. 66 จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ทั้งประเทศไปแล้วกว่า 17,312 ล้าน ลบ.ม. (69%) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 6,339 ล้าน ลบ.ม. (73%)
ด้านสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 8.82 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 152 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา มีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 5.68 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 188 ของแผนฯ ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังในลุ่มเจ้าพระยาเริ่มคงที่ เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรได้เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบแรกแล้ว อย่างไรก็ตาม ขอให้เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวนาปรังรอบแรกแล้วเสร็จ ไม่ทำนาปรังรอบสอง เพื่อลดความเสียผลผลิตเสียหายจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ พร้อมกันนี้ ยังได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เร่งเข้าสำรวจพื้นที่ที่เก็บเกี่ยวแล้ว เพื่อวางแผนปรับลดการรับน้ำเข้าพื้นที่โดยไม่กระทบต่อการรักษาระบบนิเวศ เพื่อเป็นการประหยัดน้ำสำรองไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหน้าต่อไป
อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาถึงปรากฎการณ์ลานีญา ที่จะส่งผลให้ครึ่งปีหลังโดยเฉพาะช่วงปลายฤดูฝน มีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าปกติ จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้ติดตามสภาพอากาศและการวิเคราะห์สถานการณ์ฝน เพื่อนำข้อมูลและสถิติฝนใกล้เคียง มาวางแผนการบริหารจัดการน้ำและมาตราการรับมือเชิงลุ่มน้ำและรายพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สามารถบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด