ผลศึกษา “ฟางข้าว” วัสดุเหลือใช้หลังทำนาที่สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่า ลดต้นทุนในการทำเกษตรได้เป็นอย่างดี

  •  
  •  
  •  
  •  

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น สรุปผลการศึกษาใช้ประโยชน์จากฟางข้าวในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคอีสานตอนกลาง “ขอนแก่น- มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-กาฬสินธุ์” พบสามารถใช้ประโยชน์หลากหลายที่ทำให้เพิ่มมูลค่า  สร้างรายได้เพิ่ม และลดต้นทุนทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี

นายนพดล ศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ภาคอีสานตอนกลางนับเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของประเทศไทย เกษตรกรในพื้นที่ทำการเกษตร โดยเพาะปลูกข้าวเป็นหลัก ซึ่งหลังจากฤดูเก็บเกี่ยวข้าวจะมีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในไร่นาจำนวนมาก คือ “ฟางข้าว” ภาครัฐจึงส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มมูลค่า ช่วยลดต้นทุนทางการเกษตร และการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

                                                                                  นพดล ศรีพันธุ์

สศท.4 ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการใช้ทรัพยากรในภาคการเกษตรอย่างยั่งยืนตามแนวทาง BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) มาใช้ในการดำเนินโครงการสำคัญต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จึงได้ทำการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการฟางข้าวในพื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ โดยได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรและผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว รวม 187 ราย ประกอบด้วย เกษตรกรสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่สินค้าข้าวที่มีการจัดซื้อเครื่องอัดฟางข้าว ภายใต้โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ปี 2564 ที่ผลิตข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2565/66 และข้าวนาปรังปี 2565 จำนวน 147 ราย ผู้ประกอบการแปรรูป/ ผู้รวบรวม จำนวน 20 ราย และผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว จำนวน 20 ราย ได้มีการบริหารจัดการใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าจากฟางข้าว ดังนี้

กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.59 นำมาแปรรูปเป็นฟางก้อนโดยจ้างบริการทางการเกษตรเครื่องอัดฟาง เพื่อเก็บไว้ขายหรือใช้ประโยชน์เอง ร้อยละ 30.42 จำหน่ายในลักษณะเหมาไร่ให้แก่ผู้รวบรวม/แปรรูป  ร้อยละ 10.81 กลบฟางข้าวในนาเพื่อให้ย่อยสลายเป็นปุ๋ย และร้อยละ 0.18 นำฟางข้าวไปใช้ประโยชน์โดยตรง (ไม่อัดก้อน) โดยเกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่าจากการขายฟางข้าวอัดก้อนเฉลี่ย 319 – 353 บาท/ไร่

        ผู้รวบรวมฟางข้าว/กลุ่มผู้ประกอบการแปรรูป ให้บริการแปรรูปอัดก้อนฟางข้าว ค่าบริการ 8 – 15 บาท/ก้อน (ไม่รวมค่าขนส่ง) ตามขนาดก้อนฟาง และรับซื้อฟางข้าวจากเกษตรกรและผู้รวบรวม/แปรรูปรายอื่น โดยรับซื้อแบบอัดก้อน ราคา 20 – 35 บาท/ก้อน และแบบเหมาไร่ ราคารับซื้อ  คิดตามปริมาณฟางข้าวที่อัดก้อนได้ ราคา 1 – 1.50 บาท/ก้อน และกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว ส่วนใหญ่ร้อยละ 88.99 นำฟางข้าวเลี้ยงปศุสัตว์ ได้แก่ โคเนื้อ และกระบือ โดยใช้เป็นอาหารร่วมกับหญ้าเนเปียร์ ลดค่าใช้จ่ายได้ 47.50 บาท/ตัว/วัน และผสมร่วมกับอาหารข้น TMR ลดค่าใช้จ่ายได้ 40 บาท/ตัว/วัน

ส่วนอีกร้อยละ 11.01 ใช้เป็นวัสดุคลุมดิน/ผัก ไม้ผล เมื่อเทียบกับการใช้พลาสติก ลดค่าใช้จ่ายได้ 570 บาท/ไร่/รอบการผลิต และหากเทียบกับการใช้แกลบ ลดค่าใช้จ่ายได้ 300 บาท/ไร่/รอบการผลิต  ใช้ฟางข้าวเป็นก้อนเชื้อเห็ดแทนขี้เลื่อย ลดค่าใช้จ่ายได้ 3 บาท/ก้อน ใช้ฟางข้าวเป็นอาหาร ในการเลี้ยงปลาแทนการให้อาหารสำเร็จรูป ลดค่าใช้จ่ายได้ 454.50 บาท/ไร่/รุ่น และใช้เป็นปุ๋ยหมักแทนการใช้ปุ๋ยยูเรียในแปลงพืชผัก ลดค่าใช้จ่ายได้ 354.80 บาท/ไร่/รอบการผลิต

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาเบื้องต้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาการบริหารจัดการฟางข้าวในพื้นที่ 4 จังหวัดอย่างเป็นรูปธรรมในการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ควรส่งเสริมให้มีการวางแผนการจัดการฟางข้าวตลอดห่วงโซ่อุปทาน สนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการผลิตและการเพิ่มมูลค่า ส่งเสริมให้เกษตรกรควบคุมคุณภาพและผลักดันการผลิตฟางข้าวให้ได้รับมาตรฐานการรับรองคุณภาพสินค้า สร้างความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมให้เกษตรกรนำฟางข้าวมาใช้ประโยชน์มากขึ้น

สนับสนุนงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาสินค้า พัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย พัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการด้านสินค้าฟางข้าวแบบครบวงจร สนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มและพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรในการรับมือกับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ หากท่านใดสนใจผลการศึกษาเชิงลึกของแนวทางการบริหารจัดการฟางข้าวในพื้นที่ภาคอีสานตอนกลางในพื้นที่ 4 จังหวัด สามารถสอบถามได้ที่ สศท.4 โทร 0 4326 1513 หรืออีเมล zone4@oae.go.th