กรมส่งเสริมการเกษตร ดัน 3 ถั่วลิสงพันธุ์ดีของ มก.ขยายสู่เกษตรกร ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ระดับสากล

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมส่งเสริมการเกษตร นำผลงานวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธ์ถั่วลิสงพันธุ์ดี 3 สายพันธุ์ “เกษตรศาสตร์ สวก.1-เกษตรศาสตร์โก๋แก่ 40-เคยู อาร์ด้า 20″ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ” ลงแปลงขยายพันธุ์ของศูนย์ขยายพันธุ์พืช 3 จังหวัดภาคอีสาน “บุรีรัมย์-มหาสารคาม-อุดรธานี” เพื่อขยายสู่เกษตรกร ตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ในระดับสกล

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์  รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์การผลิตถั่วลิสงในประเทศที่ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค และใช้ในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้ประเทศไทยต้องนำเข้าถั่วลิสงจากต่างประเทศปีละกว่า 8.9 หมื่นตัน กรมส่งเสริมการเกษตร โดยกองขยายพันธุ์พืช เห็นความสำคัญของประเด็นนี้ จึงได้ขอรับการสนับสนุนถั่วลิสงพันธุ์ดีที่ผ่านการศึกษาวิจัยและรับรองพันธุ์จากหน่วยงานวิชาการ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 380 กิโลกรัม ทั้ง 3 สายพันธุ์ คือ ถั่วลิสงพันธุ์เกษตรศาสตร์ สวก.1 ถั่วลิสงพันธุ์เกษตรศาสตร์โก๋แก่ 40 และ ถั่วลิสงพันธุ์เคยู อาร์ด้า 20

รพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์

ทั้งนี้มาขยายผลผ่านโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงพันธุ์ดี ภายในศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 5 จังหวัดบุรีรัมย์ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 7 จังหวัดมหาสารคาม และศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี โดยในระยะแรกนี้ ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงคุณภาพให้ได้ 3,800 กิโลกรัม เพื่อจัดทำเป็นแปลงสาธิต และจุดเรียนรู้ด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงพันธุ์ดีให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจ

ในด้านความโดดเด่นของถั่วลิสงทั้ง 3 พันธุ์ จะมีความต้านทานโรคใบไหม้ รวมถึงสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว คือประมาณ 100 – 120 วันหลังงอก และให้ผลผลิตสูง ประมาณไร่ละ 340 – 400 กิโลกรัม โดยถั่วลิสงพันธุ์เกษตรศาสตร์ สวก.1 มีจุดเด่นสำคัญคือ ให้ผลผลิตสูง ต้านทานต่อโรคยอดไหม้ คุณภาพเมล็ดเป็นที่ยอมรับของอุตสาหกรรมแปรรูป และสามารถปรับตัวได้ดีในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง

ส่วนถั่วลิสงพันธุ์เกษตรศาสตร์โก๋แก่ 40 มีจุดเด่นสำคัญ คือ ให้ผลผลิตสูง ทรงต้นเป็นพุ่มเตี้ย เก็บเกี่ยวง่าย เปลือกฝักมีลาย เปอร์เซ็นต์กะเทาะสูง ต้านทานโรคยอดไหม้ ผลผลิตเหมาะกับการแปรรูปเป็นขนมอบกรอบตามมาตรฐานโรงงาน ขณะที่ถั่วลิสงพันธุ์เคยู อาร์ด้า 20 มีจุดเด่นสำคัญ คือ ให้ผลผลิตสูง มีอายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมและมีการปรับตัวได้ดีในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง เหมาะสำหรับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ถั่วลิสงอบกรอบ ขนาดเมล็ดได้มาตรฐานการแปรรูปถั่วเคลือบ

นายรพีทัศน์ กล่าวอีกว่า ด้วยความสำคัญของเมล็ดพันธุ์ดีที่ยังขาดแคลนในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตรจึงตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ในระดับสากล (Seed Hub) ที่มีความพร้อมทั้งด้านการวิจัยพัฒนา การผลิต การจำหน่าย การนำเข้า – ส่งออกเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการทั้งภายในประเทศ และก้าวสู่ต่างประเทศได้ในอนาคต

โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสง ซึ่งภาครัฐได้สนับสนุนให้ส่งเสริมการปลูกเป็นพืชหลังนา ซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน และช่วยตัดวงจรโรคและแมลงในนาข้าว อนาคตเกษตรกรผู้ปลูกถั่วลิสงก็จะมีเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีในการทำพันธุ์ มีผลผลิตที่มีคุณภาพ และเมล็ดพันธุ์ดีสามารถกระจายสู่มือเกษตรกรได้อย่างทั่วถึงและให้เพียงพอต่อไป