อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร พร้อมสนับสนุนใช้ 3R Model ในพื้นที่จังหวัดตาก เพื่อแก้ปัญหาในระยาว เผยล่าสุดกระทรวงเกษตรฯเล็งตั้งกองบริหารจัดการเครื่องจักรกล หวังบริการให้เกษตรในภาพใหญ่ของประเทศไทย ระบุสำเร็จภายในปีสองปีนี้ จะทำให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องเกี่ยวรถไถ รถหว่าน รถโม่ รถสีข้าวโพด รวมทั้งโดรน ในราคาที่เหมาะสม
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวภายหลังจากการลงพื้นติดตามการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร และการบริหารจัดการเศษวัสดุทางการเกษตร (ข้าวโพด) ในพื้นที่ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ว่า พื้นที่โดยรอบแถบนี้ เกษตรกรมีการทำแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมาก มีผู้ประกอบการเข้ามารับซื้อ และรับสีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถึงในพื้นที่ ทั้งนี้ในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้คือ เมล็ดข้าวโพด เพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ และซังข้าวโพด เพื่อนำไปเป็นวัสดุผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล ขาดแต่ในส่วนของเปลือกข้าวโพดที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ใดๆ และมีแนวโน้มที่อาจจะดำเนินการเผาในอนาคตได้
ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้เกษตรจังหวัดประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อที่จะระบุพิกัดที่ตั้งของจุดรวบรวมของใบข้าวโพดเพื่อเร่งดำเนินการแนะนำวิธีการจัดการที่ถูกต้อง ในส่วนการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร และการบริหารจัดการเศษวัสดุทางการเกษตร (ใบอ้อย) บริเวณตำบลแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 อย่างเป็นรูปธรรม กับ บริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด โดยร่วมกันสนับสนุนองค์ความรู้และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีการม้วนใบอ้อยหลังการตัดอ้อยให้กับเกษตรกรสำหรับส่งขายเป็นเชื้อเพลิงให้กับบริษัท การไถคลุกใบอ้อยลงในแปลงเพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน และการไถกลบเศษใบอ้อย และตออ้อย เพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกใหม่ ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยต่อไป
นายพีรพันธ์ กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญและเน้นหนักในการขับเคลื่อนทุกภารกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร และการบริหารจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในเรื่องของโครงการบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร (Machinery Ring) เพื่อสนับสนุนแนวทางดังกล่าว เนื่องจากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม การวิจัย การค้นคว้า และความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อให้ประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว ตามแนวทาง 3R Model ประกอบด้วย
1. เปลี่ยนพฤติกรรม (Re-Habit) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชชนิดเดิมแบบไม่เผา โดยการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการเก็บเกี่ยว และส่งเสริม การแปรรูปเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดการเผา ดังนั้น การทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้เข้าใจถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แม้จะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่จะต้องไม่สร้างมลพิษ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
2. เปลี่ยนชนิดพืช (Replace with High Value Crops) ปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกบนพื้นที่สูง จากพืชไร่เป็นไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชเศรษฐกิจแบบผสมผสานที่มีมูลค่าสูง เช่น กาแฟ อะโวคาโด มะคาเดเมีย หรือไม้โตเร็ว หรือปลูกผักในโรงเรือน หรือการทำให้พื้นที่บนดอยกลับเป็นสภาพป่า เป็นป่าไม้ หรือเป็นไม้ยืนต้น เกษตรกรหรือประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้
3. เปลี่ยนเป็นพืชทางเลือก (Replace with Alternate Crops) ปรับเปลี่ยนพืชทางเลือกบนพื้นที่ราบ เปลี่ยนพื้นที่นาปรังหรือพื้นที่นอกเขตชลประทาน ให้เป็นการปลูกข้าวโพดหรือพืชตระกูลถั่วทดแทนการทำนาปรัง
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของกรมส่งเสริมการเกษตร เสมือนเป็นการต่อจิ๊กซอว์หนึ่งในหลาย ๆ จิ๊กซอว์ ที่จะนำไปสู่นโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการจะให้มีการบริหารเครื่องจักรกลในภาคการเกษตร หรือการให้บริการภาคการเกษตรทั้งหมดขึ้นเป็นระบบใหญ่ของประเทศ ขณะนี้มีนโยบายตั้งกองบริหารจัดการเครื่องจักรกล หรือเครื่องบริการเกษตรในภาพใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งถ้าโครงการนี้สำเร็จ เกิดขึ้นได้ในภายในปีสองปีนี้ ก็จะทำให้การให้บริการด้านการเกษตร โดยเฉพาะเครื่องจักรกลก็ดี เครื่องเกี่ยวรถไถ รถหว่าน รถโม่ รถสีข้าวโพด รวมทั้งโดรน จะสามารถให้บริการพี่น้องเกษตรกรได้ในราคาที่เหมาะสม
หากกองบริหารจัดการเครื่องจักรกล ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถ้าเกิดขึ้นจริงแล้วจะเป็นความสำเร็จในภาพใหญ่ และเป็นจิ๊กซอว์หนึ่งที่กรมส่งเสริมการเกษตร จะเข้าไปต่อกับภาพใหญ่ คาดหวังว่าจะสามารถขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกัน ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์กับทั้งตัวพี่น้องเกษตรกรเองที่ปลูกข้าวโพด ปลูกข้าว หรือปลูกพืชอื่น และผู้ประกอบการให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตร
ที่สำคัญถือว่าก็จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคที่จะได้รับจากผลผลิตที่มีคุณภาพที่ผลิตโดยกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปัญหา สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Climate Change) และปัญหาฝุ่นก็จะลดลงเช่นเดียวกัน ภาคการเกษตรเราจะต้องเดินไปข้างหน้าด้วยกันอย่างเข้มข้นแล้วก็จริงจัง