“อนุชา” ดันชาวนาไทยปรับการทำเกษตรแบบสมัยใหม่ที่มีรายได้ดีกว่า

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                                                อนุชา นาคาศัย

“อนุชา”  ดันชาวนาไทยยุคใหม่ ให้ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบสมัยใหม่ หวังพลิกชีวิตสร้างรายได้เพิ่มขึ้นมีเงินเป็นแสนเป็นล้าน เน้นลดต้นทุนการผลิต ต้องใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพ ต้องร่วมกันนำพาลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน มาทำเกษตรแบบใหม่ให้หลุดพ้นความยากจน เผยผลการทดลองให้ชาวนาปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกข้าวมาเลี้ยงวัว  300 ครัวเรือน พบว่า 3 ปี สามารถคืนทุนและมีรายได้เพิ่มขึ้นชัดเจน

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างประธานพิธีเปิดงานรณรงค์การใช้เมล็ดพันธุ์ดีและลดต้นทุนการผลิต ภายใต้โครงการส่งเสริมศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน ที่กลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนบ้านสามัคคี ตำบลปะโค อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี ว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของโลก มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 59 ล้านไร่ จังหวัดอุดรธานีมีพื้นที่ส่งเสริมการปลูกข้าวประมาณ 1,952,600 ไร่ โดยจังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ผลิตข้าวขนาดใหญ่

แต่ปัจจุบันมีการปลูกข้าวด้วยวิธีหว่านมากขึ้น เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรเก็บไว้ใช้จึงมีคุณภาพด้อยลงและกระทบต่อคุณภาพข้าวที่เกษตรกรผลิตลดลงไปด้วย ซึ่งทำให้เกษตรกรมีความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีมากยิ่งขึ้น ประกอบกับมีต้นทุนการผลิตสูง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ต้องส่งเสริมให้มีการจัดตั้งเป็นศูนย์ข้าวชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี และเป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านการผลิตข้าวและเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี โดยเน้นการลดต้นทุนการผลิตข้าว ซึ่งการจัดงานรณรงค์การใช้เมล็ดพันธุ์ดีและลดต้นทุนการผลิตในครั้งนี้ เป็นมาตรการที่มีความสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรในปัจจุบันที่ต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่อไร่และค่าตอบแทนต่ำ ให้สามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น

นายอนุชา กล่าวว่า ชาวนาไทยถูกยกย่องให้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ ซึ่งความมุ่งหวังของตน คืออยากเห็นพี่น้องเกษตรกรทุกคนมีรายได้ มีโอกาสจับเงินแสนเงินล้าน และลูกหลานเกษตรกรไทยต้องมีอนาคตที่ดี กลับมาทำเกษตรที่บ้านเกิด เพื่อสานต่ออาชีพ ถึงเวลาแล้วที่กรมการข้าว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนการทำนาให้ประสบความสำเร็จ สร้างรายได้ที่มั่นคง ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ เพราะประเทศไทยเราเป็นเมืองเกษตรกรรม แต่จะทำอย่างไรให้อาชีพเกษตรนั้นเข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม จากการทดลองให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกข้าวมาเลี้ยงวัว โดยนำร่องในพื้นที่ จ.ชัยนาท จำนวน 300 ครัวเรือน พบว่า ระยะเวลา 3 ปี เกษตรกรสามารถคืนทุนและมีรายได้เพิ่มขึ้น นับว่าประสบความสำเร็จและเป็นนโยบายหลักที่ผมจะเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไป เพื่อมุ่งหวังให้พี่น้องเกษตรกรไทยได้หลุดพ้นจากความยากจนได้สำเร็จ และต้องการเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นบนแผ่นไทย

ทั้งนี้ อำเภอกุดจับถือเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและข้าวคุณภาพดี เป็นแบบอย่างในการลดต้นทุนโดยใช้เครื่องจักรกลการเกษตร จึงจำเป็นต้องหาแนวทางเพื่อนำมาปฏิบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวของพี่น้องเกษตรกรจังหวัดอุดรธานี ให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดความมั่นคงในอาชีพ เช่น การทำปศุสัตว์ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยภาครัฐจะเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพข้าวและเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมถึงสนับสนุนเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตให้มีคุณภาพแก่เกษตรกร ส่วนพี่น้องเกษตรกรเองจะต้องนำความรู้เทคโนโลยีที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการผลิตข้าวของตนเองให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดเช่นกัน

สำหรับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอุดรธานี กรมการข้าว มีเป้าหมายการผลิตในฤดูฝนปี 2566 จำนวน 4,100 ตัน เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผลิตประกอบด้วย ข้าวเจ้าพันธุ์ กข15 จำนวน 800 ตัน ขาวดอกมะลิ 105 จำนวน 1,100 ตัน และข้าวเหนียว กข6 จำนวน 2,200 ตัน เกษตรกรที่ทำนาในอำเภอกุดจับบางส่วนทำการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอุดรธานี จำนวน 2,816 ตัน คิดเป็นรายได้ประมาณ 56,320,000 บาท