รพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์
กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าต่อ ปั้น “หมอพืชชุมชน” ในปี 2567 เตรียมต่อยอดทักษะเข้มข้น เป็นเครือข่ายการดำเนินงานในพื้นที่ ตั้งเป้าให้ครบ 77 จังหวัด ปลื้มผลการนำร่อง 38 จังหวัดในปี 2566 ประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม มีเกษตรกรร่วมโครงการ 1,002 ราย ครบคลุม 492 อำเภอ
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัญหาการทำอาชีพการเกษตรที่สำคัญอย่างหนึ่งคือเรื่องศัตรูพืช ซึ่งเป็นปัญหาเบื้องต้นที่อาจทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา อาทิ ศัตรูพืชทำลายผลผลิตการเกษตร ก่อให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพ ราคา การตลาด หรืออาจเสียหายจนไม่สามารถจำหน่ายได้ ทำให้การลงทุนไม่คุ้มค่ากับผลตอบแทน ทั้งนี้ มีสาเหตุมาจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถระบุได้ว่าอาการผิดปกติที่เกิดกับพืชนั้นเกิดจากสาเหตุใด หรือทราบแล้วแต่เลือกวิธีการจัดการที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ทำให้ไม่สามารถควบคุมการระบาดหรือแก้ไขปัญหาศัตรูพืชได้
เนื่องจากศัตรูพืชนั้นมีหลากหลายชนิด ทั้งโรคพืช แมลงศัตรูพืช วัชพืช รวมถึงอาการผิดปกติที่เกิดจากสมดุลของอาหารพืช และสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น การเสริมสร้างความรู้และทักษะด้านการวินิจฉัยอาการผิดปกติของพืช และการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสานที่เหมาะสมและปฏิบัติได้จริง จึงเป็นสิ่งจำเป็นแก่เกษตรกรอย่างยิ่ง
ในปี 2566 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการให้บริการคลินิกพืช โดยการพัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่เป็นหมอพืชสู่การเป็นพี่เลี้ยงในการสร้างเกษตรกรให้เป็นหมอพืชชุมชน โดยจัดอบรมหลักสูตรหมอพืชชุมชนให้แก่เกษตรกรแล้วในพื้นที่ 38 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง มุกดาหาร ขอนแก่น อุดรธานี เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส สุราษฎร์ธานี ชุมพร พังงา นครศรีธรรมราช ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ พะเยา อุตรดิตถ์ อุทัยธานี พิษณุโลก และจังหวัดกำแพงเพชร
โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้จริงด้วยตนเองและช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาอาการผิดปกติของพืชโดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจหลัก และศัตรูพืชสำคัญในพื้นที่ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดเป็นชุมชนแห่งการพึ่งพาตนเองด้านการบริหารจัดการศัตรูพืชอย่างยั่งยืน ซึ่งจากผลการดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง 38 จังหวัดดังกล่าว ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี เกษตรกรมีความสนใจสมัครเข้าร่วมการอบรมเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้ผ่านการพัฒนาเป็นหมอพืชชุมชนตามเงื่อนไข รวมทั้งสิ้น 1,002 ราย ครบคลุม 492 อำเภอ
สำหรับปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตร มีแผนพัฒนาศักยภาพหมอพืชชุมชนรายเดิมต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านการจัดการศัตรูพืช รวมถึงการวินิจฉัยศัตรูพืชเบื้องต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถขยายไปสู่การให้บริการเกษตรกรในชุมชนภายใต้เครือข่ายคลินิกพืชของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรได้ ซึ่งหลักสูตรนี้จะเน้นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมโดยการสาธิต กรณีศึกษา ฐานเรียนรู้ และเน้นการฝึกปฏิบัติ เช่น ฝึกการสำรวจศัตรูพืชในแปลง ฝึกการสังเกตและวินิจฉัยอาการผิดปกติของพืชในสภาพแปลงจริง และฝึกการเลือกใช้วิธีการจัดการศัตรูพืชที่เหมาะสมในสถานการณ์หรือข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เป็นต้น
อีกทั้งมีแผนจะขยายการสร้างหมอพืชชุมชนให้ครบทั้ง 77 จังหวัด เพื่อให้เกิดเครือข่ายการดำเนินงานคลินิกพืชของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ครอบคลุมเชื่อมโยงในทุกพื้นที่ สามารถแก้ไขปัญหาศัตรูพืชได้ทันท่วงที รวมถึงเกษตรกรสามารถจัดการศัตรูพืชได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และปฏิบัติได้จริง เป็นการช่วยลดต้นทุนการจัดการศัตรูพืช ลดการใช้สารเคมี ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพตรงความต้องการของตลาด เป็นการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและรายได้ของภาคการเกษตรไทยต่อไป