เผยโฉมโครงการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพพื้นที่ “ทุ่งรังสิต” แบบบูรณาการ เป็นรูปธรรมแล้ว ล่าสุดเกษตรกรบางส่วนสามารถปลูกพืชสร้างรายได้บ้างแล้ว ชี้เป็นโครงการพื้นที่เฉพาะ ดำเนินการครอบคลุม 7 จังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง “ปทุมธานี-พระนครศรีอยุธยา-นครนายก-สระบุรี-ปราจีนบุรี-ฉะเชิงเทรา -ะกรุงเทพมหานคร” บนเนื้อที่ 2,385,834 ไร่ ระบุพบสภาพปัญหาหลักของทรัพยากรดิน ส่วนใหญ่ ดินเปรี้ยว รองลงมา ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ประสบภาวะน้ำแล้ง/น้ำท่วม รวมถึงการใช้ที่ดินผิดประเภท
นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพพื้นที่ทุ่งรังสิต ดำเนินการระหว่างปี 2563 – 2572 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบบูรณาการทุกภาคส่วนสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดทุ่งรังสิต พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดทุ่งรังสิต เน้นระบบการควบคุมน้ำและกระจายน้ำ และอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำมีเป้าหมาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของพื้นที่ทุ่งรังสิตให้เป็นต้นแบบการจัดการดินเปรี้ยวจัดและให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างสมดุลและยั่งยืน
กรมพัฒนาที่ดิน โดยสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่โดยศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลสภาพพื้นที่และสภาวะเศรษฐกิจและสังคม การจัดทำกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน กำหนดพื้นที่เป้าหมายตามความสำคัญ สำรวจพื้นที่อย่างละเอียด จัดทำระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบส่งน้ำ กระจายน้ำ ควบคุมระดับน้ำในแปลงเกษตรกร ปรับระดับพื้นที่ผิวดินให้มีความสม่ำเสมอ และปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นพื้นที่ยกร่องเพื่อปลูกพืช
นอกจากนี้ มีการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัดโดยวัสดุปรับปรุงดิน อาทิ ปูนมาร์ล ปูนโดโลไมท์ เป็นต้น การส่งเสริมการใช้พืชปุ๋ยสดและส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมีทางการเกษตร โดยมีเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งในปี 2563 มีเกษตรกรต้นแบบผลสำเร็จของการดำเนินงานในพื้นที่ ตำบลทองหลาง อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ได้แก่ นางน้ำทิพย์ จำรัสทอง ได้ปรับ โครงสร้างพื้นฐานโดยการขุดสระบัว มีผลตอบแทนจากการผลิตบัว 1,704 บาท/ไร่
พื้นที่ตำบลข้าวงาม อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ นางณัฐสินี เจริญทรัพย์ ได้จัดทำระบบโครงสร้างพื้นฐานปรับพื้นที่นาเรียบ ขุดคูระบายน้ำ พร้อมระบบส่งน้ำ กระจายน้ำ ควบคุมระดับน้ำในแปลงสำหรับการปลูกข้าว รวมถึงปรับปรุงดินโดยการใส่ปูนมาร์ลตามค่าวิเคราะห์ดิน และการปลูกพืชตระกูลถั่ว (ปอเทือง) เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุสามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด ยกระดับค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อไร่ 3,251 บาทต่อไร่
ส่วนนางสุวันนา พุฒโต มีการปรับเปลี่ยนแปลงนาข้าวเป็นพืชผัก โดยปลูกตะไคร้ ทำให้มีรายได้ตลอดทั้งปีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อไร่ 35,000 บาทต่อไร่ เกษตรกรสามารถเลี้ยงปลาในคูระบายน้ำทำให้มีแหล่งอาหารลดรายจ่ายในครัวเรือนและมีรายได้เพิ่มขึ้น โครงการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพพื้นที่ทุ่งรังสิต ช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น