สายส้มมีเฮ! กรมวิชาการเกษตรแจ้งเกิดส้มโอพันธุ์ใหม่ “กวก.พิจิตร 1” หลังจากที่มีการปรับปรุงพันธุ์ตั้งแต่เริ่มกว่า 20 ปี เผยคุณสมบัติเด่นให้ผลผลิตสูงถึงไร่ละ 1,225 กิโลกรัม จำนวน 1,080 ผล เนื้อกุ้งนิ่ม สีขาวอมชมพู รสชาติหวาน กลิ่นหอมเฉพาะตัว
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ส้มโอเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญมีแหล่งปลูกที่สำคัญในจังหวัด พิจิตร สมุทรสงคราม เชียงราย นครปฐม นครศรีธรรมราช ปราจีนบุรี ชัยภูมิ กาญจนบุรี ชัยนาท และสุราษฎร์ธานี พันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ ทองดี ขาวใหญ่ ขาวแตงกวา ขาวน้ำผึ้ง ท่าข่อย และทับทิมสยาม โดยทั่วไปส้มโอให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่บริโภคภายในประเทศ และมีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ได้แก่ จีน เวียดนาม และฮ่องกง
ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์
ปัจจุบันพบว่าสายพันธุ์ส้มโอมีการกระจายตัวอย่างหลากหลายในแต่ละแหล่งปลูก ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิตในบางพื้นที่ไม่ได้คุณภาพและผลผลิตต่ำ ผลผลิตไม่สม่ำเสมอ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตร จึงพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ส้มโอเพื่อให้มีความหลากหลายในด้านของสีเนื้อและรสชาติ ทนทานต่อโรคและแมลง ให้ผลผลิตสูง ผลมีคุณภาพดี เหมาะสำหรับส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้า เพิ่มโอกาสทางการตลาดตลอดจนการส่งออกในอนาคต เพื่อตอบสนองของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
นายระพีภัทร์ กล่าวอีกว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรได้คัดเลือกสายต้นจากการเพาะเมล็ดซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการปรับปรุงพันธุ์ส้มโอ โดยขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์เริ่มในปี 2545 – 2549 คัดเลือกพันธุ์ส้มโอพันธุ์ทองดีจากการเพาะเมล็ดจำนวน 200 ต้น สามารถคัดเลือกได้สายต้นส้มโอที่มีรสชาติดี 10 สายต้นที่ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย โดยเกณฑ์ในการคัดเลือกเบื้องต้น คือ เป็นต้นส้มโอที่มีการเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตคุณภาพดีเทียบเท่า หรือดีกว่าส้มโอพันธุ์ที่เป็นต้นแม่ ผลผลิตมีรสชาติดี ไม่มีรสขม เปลือกผลหนา เหมาะสำหรับเก็บได้เป็นเวลานาน และทนการกระแทกจากการขนส่ง
ปี 2550-2555 นำสายต้นที่ได้ 10 สายต้นไปปลูกเปรียบเทียบร่วมกับพันธุ์การค้า 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ทองดี และพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร และศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย พบว่าสายต้นท่าชัย 32 เจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีทั้ง 2 สถานที่ ปี 2556 ขยายพันธุ์ส้มโอท่าชัย 32 โดยวิธีการเสียบยอดจำนวน 120 ต้น เพื่อนำไปทดสอบในแปลงเกษตรกรและศูนย์วิจัยในแหล่งปลูก 3 แหล่ง ได้แก่ แปลงเกษตรกรจังหวัดพิจิตร แปลงเกษตรกรจังหวัดชัยภูมิ และศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย
ปี 2557-2564 ปลูกทดสอบสายต้นส้มโอจากการเพาะเมล็ดที่ผ่านการคัดเลือก คือ สายต้น ท่าชัย 32 ร่วมกับพันธุ์ทองดี ที่แปลงเกษตรกรจังหวัดพิจิตร แปลงเกษตรกรจังหวัดชัยภูมิ และศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย พบว่า สายต้นท่าชัย 32 เจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตสูง โดยให้ขนาดผลค่อนข้างใหญ่ เนื้อกุ้งสีขาวอมชมพูอ่อน ลักษณะกุ้งนิ่ม รสชาติหวาน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ในขณะที่พันธุ์ทองดีซึ่งเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ มีขนาดผลค่อนเล็ก โดยสายต้นท่าชัย 32 ทั้งในด้านการเจริญเติบโต ผลผลิตและคุณภาพการบริโภคได้รับการยอมรับจากเกษตรกรและผู้บริโภค ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรจึงได้เสนอคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร พิจารณาให้ส้มโอสายต้นท่าชัย 32 เป็นพันธุ์แนะนำเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 โดยใช้ชื่อพันธุ์ว่า“ส้มโอพันธุ์ กวก.พิจิตร 1”
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อไปว่า ส้มโอพันธุ์ กวก.พิจิตร 1 มีลักษณะเด่น ให้ผลผลิตสูง 1,225 กิโลกรัม/ไร่ จำนวนผล 1,080 ผล/ไร่ และน้ำหนักผล 1.16 กิโลกรัม /ผล ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ทองดี ที่ให้น้ำหนักผลผลิต 743 กิโลกรัม/ไร่ จำนวนผล 720 ผล/ไร่ และน้ำหนักผล 0.94 กิโลกรัม /ผล รวมทั้งยังมีรสชาติหวาน ลักษณะผลกลมสูง เนื้อกุ้งสีขาวอมชมพูอ่อนและฉ่ำน้ำน้อย โดยเกษตรกรควรเก็บเกี่ยวเมื่อผลมีอายุ 210 – 225 วัน นับจากเริ่มติดผลจนกระทั่งเก็บเกี่ยวจะทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและรสชาติดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์ทองดี จะเก็บเกี่ยวเมื่อผลมีอายุ 225 – 240 วัน ในปี2566 มีต้นแม่พันธุ์อายุ 7 ปีจำนวน 20 ต้น พร้อมจะขยายพันธุ์ได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 กิ่ง/ปี เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0-5699-0035