3 รัฐมนตรีเกษตรฯ ชุดใหม่ แท็คทีมล่องใต้ปัญหามังคุดภาคใต้ราคมตกต่ำที่เมืองคอน

  •  
  •  
  •  
  •  

3 รัฐมนตรีเกษตรฯ ชุดใหม่ แท็คทีมลงพื้นที่รับฟังปัญหาความเดือนร้อนของพี่น้องเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช มุ่งแก้ไขปัญหาราคามังคุดภาคใต้ตกต่ำ พร้อมหาแนวทางแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว ให้เกิดความยั่งยืน

วันที่ 4 กันยายน 2566 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตร  พร้อมรับฟังปัญหาความเดือนร้อนของพี่น้องเกษตรกร โดยมีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น เข้าร่วม ณ เทศบาลตำบลพรหมโลก ตำบลพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี  และเยี่ยมชมจุดรับซื้อมังคุดที่กำลังมีปัญหาราคาตกต่กในขณะนี้  ณ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านวังลุง จำกัด หลังมีกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่รวมตัวกันบรรทุกมังคุดมาเททิ้งบริเวณหน้าป้ายที่ว่าการอำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช

สำหรับสถานการณ์มังคุดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ปลูกมังคุด จำนวน 96,479 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว จำนวน 92,387 ไร่ ผลผลิตรวมทั้งสิ้น 43,533 ตัน แบ่งเป็น ผลผลิตนอกฤดู จำนวน 2,972 ตัน และผลผลิตในฤดูกาล จำนวน 40,561 ตัน โดยมีผลผลิตออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน และออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนสิงหาคม จำนวน 11,954 ตัน ปัจจุบันเก็บเกี่ยวไปแล้วบางส่วน ผลผลิตมังคุดคงเหลือในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชประมาณ 10,000 ตัน โดยผลผลิตที่เหลือส่วนใหญ่จะเป็นมังคุดภูเขา ในพื้นที่อำเภอนบพิตำ อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอทุ่งสง อำเภอจุฬาภรณ์ และอำเภอลานสกา

ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นนายกรัฐมนตรีได้กำชับว่าต้องมาแก้ไขปัญหาทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้เกิความยั่งยืน จึงได้สั่งการปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการในระยะเร่งด่วน โดยมอบหมายให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และกรมส่งเสริมสหกรณ์ นำมังคุดของเกษตรกรมาจำหน่าย โดยให้ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงราคากันอย่างเป็นธรรม และได้มอบหมายกรมการค้าภายในเร่งกระจายสินค้าไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืนด้วย และในส่วนของมาตรการระยะกลางและระยะยาว จะมีการหารือร่วมกับคณะรัฐมนตรีต่อไป

อย่างไรก็ก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการส่งเสริมผลักดันให้มีการรวมกลุ่มในรูปแบบแปลงใหญ่และวิสาหกิจชุมชนให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นให้เกษตรกรรายย่อยเกิดการรวมกลุ่มเพื่อรวบรวมผลผลิต และมีการคัดแยกเกรดเพื่อจำหน่ายโดยวิธีการประมูล ซึ่งจะช่วยยกระดับราคาและรายได้ให้กับเกษตรกร อีกทั้งยังมีการประชาสัมพันธ์สร้างรับรู้ให้กับเกษตรกรผู้ผลิตมังคุดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ผลิตมังคุดคุณภาพตามมาตรฐานสินค้าเกษตร (GAP) และรวมกลุ่มจำหน่าย อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงผ่านสหกรณ์การเกษตรพรหมคีรี จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปยังสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด 23.325 ตัน มูลค่า 922,500 บาท

นอกจากนี้ ในด้านการตลาด สำนักงานพาณิชย์จังหวัดยังได้รวบรวมมังคุดจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ไปเปิดจุดจำหน่ายในกรุงเทพมหานคร ผ่านรถโมบาย จำนวนทั้งหมด 100 จุด และต่างจังหวัดอีก 120 จุด รวม 220 จุด ปริมาณ 1,100 ตัน และได้เพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรในการจำหน่ายมังคุดผ่านช่องทางออนไลน์ โดยได้มอบกล่องใส่ผลไม้ให้กับเกษตรกร โดยปีนี้จัดส่งให้จังหวัดนครศรีธรรมราชจำนวน 35,000 กล่องด้วย

สำหรับการรับรอง GAP / GMP มีการรับรอง GAP แล้ว จำนวน 9,712 แปลง เกษตรกร 8,456 ราย 36,749.15 ไร่ โดยมากที่สุดที่อำเภอลานสกา 1,709 แปลง เกษตรกร 1,131 ราย พื้นที่ 6,647.60 ไร่ (อำเภอพรหมคีรี เป็นอันดับ 3 จำนวน 1,310 แปลง เกษตรกร 1,042 ราย พื้นที่ 4,468.80 ไร่) ซึ่งจากการรับรอง GAP จำนวน 36,749.15 ไร่ สามารถใช้ใบ GAP ส่งออกตามพิธีสารไทย-จีน ได้ 183,745 ตัน ซึ่งมากกว่าผลผลิตมังคุดจังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ 4.4 เท่า (จากผลผลิตมังคุดฤดูกาล ปี 2566 มีจำนวน 41,283 ตัน) ดังนั้น ใบรับรอง GAP จึงเพียงพอต่อการส่งออก

ในส่วนของการรับรอง GMP โรงคัดบรรจุมังคุด (ล้ง) จำนวน 88 ล้ง โดยมากที่สุดที่อำเภอพรหมคีรี จำนวน 36 ล้ง ซึ่งปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ก.ย. 66) มีล้งมังคุดเปิด จำนวน 51 ล้ง มากที่สุดที่อำเภอพรหมคีรี 20 ล้ง อำเภอเมือง 10 ล้ง อำเภอลานสกา 7 ล้ง อำเภอท่าศาลา 7 ล้ง อำเภอนบพิตำ 3 ล้ง อำเภอฉวาง 1 ล้ง อำเภอพระพรหม 1 ล้ง และอำเภอร่อนพิบูลย์ 2 ล้ง

ทั้งนี้ประเทศไทยมีปริมาณผลผลิตมังคุดส่งออกจีน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 พ.ค. ถึง 2 ก.ย. 66) มีปริมาณการส่งออกรวม 2,016 ตู้ (ชิปเม้นท์) ปริมาณผลผลิตรวมประมาณ 40,230 ตัน ซึ่งส่งออกมากที่สุด ที่ด่านเชียงของ 1,251 ตู้ (ชิปเมนท์) ประมาณ 25,020 ตัน โดยในช่วงที่เกิดปัญหาราคามังคุดตกต่ำ (ช่วงวันที่ 18 สิงหาคม ถึงวันที่ 2 กันยายน 2566) ส่งออก 1,212 ตู้ (ชิปเม้นท์) ปริมาณผลผลิตรวมประมาณ 24,240 ตัน มากที่สุด 93 ตู้/วัน น้อยที่สุด 61 ตู้/วัน เฉลี่ยส่งออก 76 ตู้/วัน ปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 1,520 ตัน/วัน ซึ่งส่งออกมากที่สุด ที่ด่านเชียงของ 789 ตู้ (ชิปเมนท์) ประมาณ 15,780 ตัน