กรมการข้าว นำสื่อมวลชน บุกพิสูจน์กระบวนการผลิตข้าวคุณภาพ ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดตามมาตรฐานสินค้าข้าว Q ครบวงจร การันตีหากมีการรับรองเป็นข้าวคุณภาพทุกเมล็ดมาตรฐานของกรมการข้าว ก่อนจำหน่ายสู่ตลาด
วันที่ 29 สิงหาคม 2566 นายชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว ได้รับมอบหมายจากนายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ให้นำสื่อมวลชน เยี่ยมชม “การผลิตข้าวคุณภาพ ตามมาตรฐานสินค้าข้าว Q ครบวงจร (GAP Seed – GAP ข้าวหอมมะลิไทย – GMP โรงสีข้าว -สินค้าข้าว Q) และการใช้เครื่องหมายรับรองพันธุ์ข้าวแท้” ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อให้เห็นขั้นตอนการขอรับรองสินค้าข้าว Q จนเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนการขออนุญาตใช้เครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้
นายชิษณุชา เปิดเผยว่า การรักษาเสถียรภาพราคาข้าวและรายได้ของชาวนา นับว่าเป็นนโยบายที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เน้นการแก้ปัญหาด้านการผลิตและการตลาดข้าว โดยจะต้องจัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เพื่อบริหารจัดการข้าวตลอดห่วงโซ่อุปทาน จากนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว การยกระดับคุณภาพข้าวและการบริหารจัดการระบบการผลิตถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในระบบการผลิตข้าวครบวงจร ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักคือการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าข้าว พัฒนาการผลิตด้วยต้นทุนที่เหมาะสม เพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต พัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตข้าวครบวงจร และสร้างทางเลือกในการเพิ่มรายได้โดยมีตลาดเป็นตัวนำการผลิต
ทั้งนี้แนวทางการยกระดับคุณภาพข้าว จะมุ่งเน้นกระบวนการผลิตที่มีการนำเมล็ดข้าวพันธุ์ดีที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP Seed มาใช้ เพื่อผลิตข้าวเปลือกคุณภาพดีที่ผ่านมาตรฐาน GAP สำหรับการแปรสภาพเป็นข้าวสารคุณภาพผ่านโรงสีหรือโณงปรับปรุงสภาพข้าวที่ได้รับมาตรฐาน GMP หรือมาตรฐานอื่นที่เทียบเท่า เพื่อให้ได้สินค้าข้าวคุณภาพที่เป็นไปตามมาตรฐานสินค้าข้าว Q
รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวอีกว่า กรมการข้าว เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโครงการเกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพข้าว และการเชื่อมโยงตลาดข้าวครบวงจร ได้แก่ โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้า โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และโครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายใน สำหรับสินค้าข้าว โครงการสำคัญเหล่านี้ ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน โดยมีการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าว เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ
ส่วนกรมการข้าว โดยกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ มีภารกิจในการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าว ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (Certification Authorize : CA) และกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ ในฐานะหน่วยรับรอง (Certification Body : CB) ที่ได้รับการรับรอง จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ตามระบบ ISO/IEC 17065 ได้ขับเคลื่อนงานด้านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวคุณภาพครบวงจร ตั้งแต่การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (GAP Seed)
การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวและข้าวหอมมะลิไทย หรือข้าว GAP ระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงสีข้าวและโรงปรับปรุงสภาพข้าว (GMP) และการผลิตข้าวสาร Q (Q Product) ทำให้เกิดระบบตามสอบ (Traceability) ของข้าวคุณภาพตามมาตรฐานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการขับเคลื่อนงานดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคส่วนราชการ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร เพื่อให้โครงการสำคัญต่าง ๆ ของรัฐบาลบรรลุผลสัมฤทธิ์
สำหรับการนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อต้องการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ “การผลิตข้าวคุณภาพ ตามมาตรฐานสินค้าข้าว Q ครบวงจร (GAP Seed – GAP ข้าวหอมมะลิไทย – GMP โรงสีข้าว – สินค้าข้าว Q) และการใช้เครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้” โดยนำเสนอกระบวนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวตามมาตรฐานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่กระบวนการการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (GAP Seed) การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวและข้าวหอมมะลิไทย หรือข้าว GAP กระบวนการผลิตข้าวอินทรีย์ กระบวนการการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงสีข้าวและโรงปรับปรุงสภาพข้าว (GMP) และกระบวนการผลิตข้าวสาร Q (Q Product) ผ่านการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร ตามนโยบายของรัฐบาล
รวมถึงการใช้เครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้บนบรรจุภัณฑ์ข้าวสาร Q เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงสีข้าว เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ส่วนราชการ และประชาชนทั่วไป ได้รับรู้และสร้างความเข้าใจในกระบวนการต่าง ๆ ของการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวทุกมาตรฐาน จนเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวสาร Q เพื่อบริโภค และส่งเสริมการนำเครื่องหมาย Q และเครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้ไปใช้บนบรรจุภัณฑ์ข้าวสาร Q ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของภาคการผลิตข้าวคุณภาพทั้งระบบของประเทศ เป็นผลให้เกิดการพัฒนา และยกระดับข้าวคุณภาพดีของประเทศไทยต่อไป
ด้านนายศราวุธ ประดับคำ ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด กล่าวว่า ภารกิจหลักของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด นำเมล็ดข้าวคุณภาพจากศูนย์วิจัยข้าวมาส่งเสริฒให้เกษตรนำไปขยายเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อการเพาะปลูกโดยทางศูนย์จะเป็นผู้รับซื้อจากเกษตรกรทั้งหมดที่ร่วมโครงการในรูปแบบของคอนแทรกฟาร์มมิ่ง มีเกษตรกรร่วมโครงการ 51 กลุ่มในพื้นที่กว่า 1 หมื่นไร่ สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ปีละราว 3,400 ต้น
โดยศูนย์ฯรับซื้อในราคา กก.ละ 19 บาทจะนำมาคัดเลือกไตรตรองเพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรทั่วนำไปปลูกเพื่อการค้า ซึ่งในจำนวนนี้เป็นข้าวหอมมะลิ 80% ที่เหลือเป็นข้าวเหนียว ขณะที่เกษตรกรผู้ร่วมโครงการยืนยันว่าผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวมีรายได้ดีกว่าการทำนาขายข้าวให้โรงสีกว่าเท่าตัว (รายละเอียดในคลิป)