กรมการข้าว เดินหน้าหนุนเกษตรกรเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวดีไปปลูก พร้อมแนะให้ดูแลอย่างพิถีพิถัน 5 รยะ

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมการข้าว เดินหน้าโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวดีไปปลูก เน่้นให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ พร้อมแนะให้มีการดูแล 5 ระยะอย่างพิถีพิถัน เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ปลูกในปีต่อ ๆ ไป

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ทางกรมการข้าวมีความมุ่งหวังอยากให้เกษตรกรได้นำเมล็ดพันธุ์ดีไปปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และส่งเสริมให้เกษตรกรมีการดูแลอย่างพิถีพิถันเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ปลูกในปีต่อ ๆ ไป ในส่วนของขั้นตอนการดูแล เกษตรกรต้องเริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน โดยการเตรียมดินต้องเช็คข้าวพันธุ์ปนหรือข้าวที่หลงเหลือในดิน เมื่อตรวจพบเจอจะต้องกำจัดออกให้หมดหลังจากนั้นจึงจะสามารถเริ่มการเพาะปลูกขั้นตอนต่อไปได้ และเมื่อมีการเพาะปลูกข้าวอายุประมาณ 20-30 วัน เกษตรกรจะต้องตรวจดูข้าวพันธุ์ปนในแปลง โดยสังเกตจากสีต้น สีใบ ความสูงของลำต้น และวัชพืชต่าง ๆ และเมื่อตรวจพบเจอเกษตรกรสามารถตัดถอนพันธุ์ปนได้เลย ซึ่งในส่วนของการตัดถอนพันธุ์ปนจะมีทั้งหมด  5 ระยะ เกษตรกรควรศึกษาและตรวจเช็ค ปฏิบัติแต่ละขั้นตอนอย่างเคร่งครัดเพื่อเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี

นายณัฏฐกิตติ์ กล่าวอีกว่า การตัดถอนพันธุ์ปนจะเริ่มตั้งแต่ระยะที่ 1 คือระยะกล้า ระยะที่ 2 คือระยะแตกกอ เกษตรกรสามารถถอนวัชพืช และข้าวพันธุ์ปนออกจากแปลงได้ในระยะนี้ ข้อสำคัญคือต้องใช้วิธีการถอนเท่านั้นและนำไปทิ้งนอกแปลงนา หากใช้วิธีการตัด ข้าวจะงอกขึ้นมาใหม่ ระยะที่ 3 คือระยะข้าวตั้งท้อง ซึ่งระยะนี้จะเห็นข้าวพันธุ์ปนได้ชัดเจน เนื่องจากข้าวแต่ละสายพันธุ์จะตั้งท้องระยะเวลาที่แตกต่างกัน ในบางกลุ่มพันธุ์อาจจะตั้งท้องพร้อมกัน แต่ลักษณะต้น ลักษณะใบจะแตกต่างกัน ให้เกษตรกรสังเกตให้ดี เช่น ถ้าเราปลูก กข 95 แต่มีข้าวพันธุ์อื่น สีใบเข้มกว่า ต้นสูงกว่า ออกรวงก่อน ออกรวงหลัง ต้องถอนทิ้ง เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพและสมบูรณ์ไว้ใช้ในการปลูกครั้งต่อไป และในช่วงที่ระยะข้าวออกรวงเราสามารถสังเกตข้าวพันธุ์ปนได้จาก  สีดอก สีใบ ลักษณะใบธง การชูของใบธง การเอียงของใบธง ความสูง-ต่ำ ลักษณะเมล็ดจะแตกต่างจากต้นอื่น ซึ่งถ้าเกษตรกรพบเจอจะต้องกำจัดออกจากแปลงให้หมด

ระยะที่ 4 ระยะก่อนการเก็บเกี่ยวหรือระยะข้าวโน้มรวง เกษตรกรจะต้องดูแลให้ดี อย่าให้มีพันธุ์อื่นปน คอยตรวจเช็คเรื่องโรคและแมลง หากต้นไหนเป็นโรคหรือพบเจอแมลงจะต้องทำลายโดยการตัดทิ้ง ส่วนพันธุ์ปนให้ถอนทิ้งออกไปจากแปลงนา และระยะที่ 5 ระยะสุดท้าย คือ การเก็บเกี่ยว ในส่วนที่ขายเมล็ดให้กับโรงสีเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวโดยรถเกี่ยวได้เลย แต่ถ้าจะเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ในพื้นที่ของตัวเอง ควรจะมีการเก็บเกี่ยวแยก ไม่ว่าจะเกี่ยวโดยรถหรือใช้แรงงานคน เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จจะต้องตากให้แห้งและทำความสะอาด คัดพันธุ์ให้ดี แต่ข้อเสนอแนะคือควรเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคน เพราะช่วงที่เก็บเกี่ยวเกษตรกรสามารถเช็คดูรวง ลักษณะรวงก่อนกะเทาะ ตากให้แห้ง และ       เก็บรักษาไว้ใช้ในฤดูต่อไปได้อีกครั้ง