ยกระดับล้งรับซื้อลำไยภาคตะวันออกจากแดงขยับเป็นล้งเขียว

  •  
  •  
  •  
  •  
รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร “ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้งลง” พื้นที่ ติดตามสถานการณ์ส่งออกลำไยภาคตะวันออก ให้สิทธิ์ล้งแดงที่ตรวจไม่พบศัตรูพืชติดกัน 10 ครั้ง ขยับเป็นล้งเขียว ย้ำให้ผู้ประกอบการต้องเข้มงวดในการตรวจสอบและกำจัดศัตรูพืชในโรงคัดบรรจุของตนเอง โดยเฉพาะโรงคัดบรรจุที่ได้รับการแจ้งเตือนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

       วันที่ 24 สิงหาคม 2566 ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้รับมอบหมายจากนายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  ลงพื้นที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จ.จันทบุรี เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์การส่งออกลำไย โดยได้เยี่ยมชมการดำเนินการของโรงคัดบรรจุลำไย ของล้ง LK ตั้งอยู่อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นล้งที่รับซื้อสินค้าจากสวนโดยตรง ไม่รับซื้อหน้าล้ง และยังใช้แรงงานคน ในทำความสะอาด คัดขนาดผลผลิต และบรรจุลงลัง ทั้งหมด

พร้อมกันนี้ได้มอบนโยบายให้นายด่านตรวจพืช ณ ด่านตรวจพืชจันทบุรี จ.จันทบุรี  ซึ่งด่านตรวจพืชฯ มีมาตรการในการจัดระดับโรงคัดบรรจุลำไยส่งออกไปประเทศจีน ดังนี้

กลุ่มสีเขียว หมายถึงทางโรงคัดบรรจุจัดการตรวจสอบศัตรูพืชได้ดี จะคลายความเข้มงวดลง สุ่มตรวจสินค้า 5 เปอร์เซ็นต์  โดยผู้ประกอบการนำสินค้าขึ้นตู้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกได้รวดเร็วขึ้น  และหากทำการสุ่มตรวจสินค้าไม่พบศัตรูพืชติดต่อกัน 7 ครั้ง สามารถนำสินค้าขึ้นตู้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ หากสุ่มตรวจไม่พบศัตรูพืชติดต่อกัน 10 ครั้ง จะลดปริมาณการสุ่มตรวจเหลือ 3 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม หากพบการแจ้งเตือนศัตรูพืชจากประเทศจีนจะปรับเป็นสีแดง

กลุ่มสีแดง จะทำการสุ่มตรวจสินค้า 5 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างตรวจห้ามนำสินค้าขึ้นตู้ 100 เปอร์เซ็นต์ และเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรจะทำการตรวจสินค้าหากไม่พบศัตรูพืชติดต่อกัน 7 ครั้ง จะลดปริมาณการสุ่มเหลือ 3 เปอร์เซ็นต์ และหากตรวจไม่พบศัตรูพืชติดต่อกัน 10 ครั้ง จะปรับเป็นกลุ่มสีเขียว

“ได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการต้องเข้มงวดในการตรวจสอบและกำจัดศัตรูพืชในโรงคัดบรรจุของตนเอง โดยเฉพาะโรงคัดบรรจุที่ได้รับการแจ้งเตือนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบศัตรูพืชซึ่งผ่านการอบรมจากกรมวิชาการเกษตร มีการตรวจสอบศัตรูพืชก่อนรับสินค้าเข้าโรงคัดบรรจุ ตรวจสอบระหว่างคัดเกรด และก่อนขึ้นตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นลำไยไทย ลำไยคุณภาพเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ  โดยการส่งออกลำไยใน 2565/2566 มีจำนวน 9,904 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนัก 256,132  ตัน มูลค่ากว่า 9,870.23 ล้านบาท” รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว