รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ “สุรเดช สมิเปรม” ชูต้นแบบสวนทวีทรัพย์ ผลิตทุเรียนคุณภาพตามแนวทาง BCG Model หนุนต่อยอดขยายผลในพื้นที่อื่นๆ เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน สร้างรายได้ ขับเคลื่อนทุเรียนคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน
นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดชุมพร เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตร (ทุเรียน กาแฟ และมังคุด) โดยมี นายธิติ โลหะปิยะพรรณ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธราพงษ์ มีมุสิทธิ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดชุมพร และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ โดยเยี่ยมชมสวนทวีทรัพย์ ซึ่งมีการบริหารจัดการผลิตทุเรียนคุณภาพแบบเกษตรอุตสาหกรรม ตามแนวทาง BCG Model ของนายวีรวัฒน์ จีรวงส์ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ปี 2566 สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น และประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
นายสุรเดช กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งมั่นยกระดับควบคุมคุณภาพทุเรียนไทยเพื่อให้ได้คุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานการส่งออกที่กำหนด ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร จนทำให้ประสบความสำเร็จ และขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่บูรณาการความร่วมมือกันเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ขอฝากว่ายังคงต้องคุมเข้มในการตรวจควบคุมคุณภาพทุเรียนให้ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ยึดมั่นในจรรยาบรรณ และขอให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ เพื่อขับเคลื่อนทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน
รองปลัดเกษตรฯ กล่าวชื่นชมสวนทุเรียนของนายวีรวัฒน์ จีรวงส์ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ปี 2566 ที่ประสบความสําเร็จในการบริหารจัดการผลิตทุเรียน ทั้งการแปรรูปทุเรียนแช่เยือกแข็ง และทุเรียนฟรีซดราย นอกจากนั้นยังนําผลไม้ชนิดอื่นๆ ในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงมาแปรรูป เช่น มะม่วงฟรีซดราย มังคุดฟรีซดราย สับปะรดฟรีซดราย และเงาะไส้สับปะรดฟรีซดราย และมีการตลาดแบบครบวงจร โดยสวนฯ ผลิตทุเรียนในพื้นที่ 250 ไร่
พร้อมทั้งมีการจัดทำวงจรการบริหารจัดการผลิตทุเรียนคุณภาพ ตามมาตรฐาน GAP หรือ Premium Durian Cycle : PDC ในรอบ 1 ปี ทำให้ง่ายต่อการวางแผน และบริหารจัดการผลิต และบริหารจัดการสวนแบบเกษตรอุตสาหกรรม ตามแนวทาง BCG MODEL ใช้นวัตกรรมการห่อผลทุเรียนโดยใช้กระดาษห่อผลไม้สีขาวที่ฆ่าเชื้อ เคลือบผิวมัน ด้านนอกระบายน้ําและอากาศได้ มาห่อผลทุเรียน ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันแมลงศัตรูทุเรียนได้ ทําให้ลดการใช้สารกําจัดศัตรูพืชปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานในสวนและผู้บริโภค อีกทั้งยังได้คิดค้นสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน สร้างรายได้ สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติงานด้านการเกษตรเป็นอย่างดี